คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9948/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกับบริษัท อ. เพื่อดำเนินกิจการของโรงเรียน อันมีโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เป็นหุ้นส่วน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เป็นหุ้นส่วนตกลงกันไว้ในกระบวนการห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมในฐานะหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
ขณะเกิดเหตุแม้จำเลยไม่ได้ทำหน้าที่ฝ่ายการเงินของโรงเรียนและไม่มีหน้าที่รับเงินจากนักเรียนโดยตรงก็ตาม แต่จำเลยเป็นอาจารย์ฝ่ายทะเบียนและฝ่ายผู้สอน นักเรียนสามารถฝากเงินแก่จำเลยให้นำไปชำระแก่โรงเรียนได้โดยถือเสมือนหนึ่งว่านักเรียนชำระเงินให้แก่โรงเรียนแล้ว และจำเลยมีหน้าที่นำเงินดังกล่าวไปมอบให้ฝ่ายการเงิน ถือได้ว่าจำเลยได้รับมอบหมายโดยปริยายจากโรงเรียนให้มีหน้าที่รับเงินจากนักเรียนแทนโรงเรียนได้ ซึ่งเมื่อจำเลยได้รับเงินดังกล่าวจากนักเรียนแล้ว เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ไม่ได้เป็นของนักเรียนอีกต่อไป นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลย จึงมิใช่ผู้เสียหายผู้มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนั้นแม้ก่อนโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในคดีนี้ นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาฉ้อโกง และถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากโรงเรียนออกใบรับรองผลการเรียนให้ไปแล้วก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่านักเรียนดังกล่าวเป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในความผิดข้อหายักยอกตามฟ้องนี้ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ ในส่วนนี้จึงยังไม่ระงับไป เพราะมิใช่เป็นการเปลี่ยนตัวผู้เสียหายและเปลี่ยนข้อหาเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2555)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352 และให้จำเลยคืนเงิน 37,400 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสุมณฑา ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 3,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 4 เดือน และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวม 9 กระทง จำคุก 36 เดือน และปรับ 18,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 และให้จำเลยคืนเงิน 37,400 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับคำฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.5 ออกจากสารบบความกับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับค่าฟ้องข้อ 1.6 ถึง 1.9
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในส่วนคำฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.5 ระงับไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมในฐานะหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้และถือได้ว่าเงินที่จำเลยรับจากนักเรียนย่อมตกเป็นของโรงเรียนแล้วไม่ได้เป็นของนักเรียนอีกต่อไป นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลย จึงมิใช่ผู้เสียหายผู้มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนั้นแม้ก่อนโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในคดีนี้ นางสาวธิดารัตน์ นางสาวอรอุมา นางสาวอัมพารัตน์ นางสาวนฤมล และนางสาวอัชฌา นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกงแก่จำเลย และถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากโรงเรียนออกใบรับรองผลการเรียนให้ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ถือไม่ได้ว่านักเรียนดังกล่าวเป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในความผิดข้อหายักยอกตามฟ้องนี้ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ ในส่วนคำฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.5 จึงยังไม่ระงับไป เพราะมิใช่เป็นการเปลี่ยนตัวผู้เสียหายและเปลี่ยนข้อหาเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อสุดท้ายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องตามคำฟ้องข้อ 1.6 ถึง 1.9 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและพันตำรวจโทวีรวัฒน์ พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันว่าวันที่ 19 กันยายน 2541 โจทก์ร่วมมาแจ้งความว่า จำเลยยักยอกเงินของโรงเรียนไป 160,000 บาทเศษ โดยมอบเอกสารตามบัญชีของกลาง ซึ่งมีใบคำร้องทั่วไปของนักเรียนผู้เสียหายรวม 11 ฉบับ ซึ่งเป็นนักเรียนที่จำเลยรับเงินค่าเล่าเรียนมาแล้วไม่นำส่งเข้าบัญชีเงินฝากของโรงเรียนตามฟ้องทั้งหมดรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของจำเลย จึงมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้ ฟังได้ว่า คดีนี้มีการร้องทุกข์โดยชอบพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8พิพากษา ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยจะต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหายเพียงใดซึ่งปัญหาข้อนี้จำเลยอุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและคู่ความสืบพยานเสร็จแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย เห็นว่า จำเลยยักยอกเงินที่เก็บจากนักเรียนรวม 9 คน เป็นเงินรวม 137,400 บาท ไปก็ตาม แต่นายอิศนุวัฒน์ ผู้จัดการโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยกลับเบิกความว่า หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ โรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แล้วได้ความว่า นักเรียน 9 คน ที่ฝากเงินค่าเล่าเรียนแก่จำเลยนั้นเป็นนักเรียนภาคค่ำ ไม่สะดวกที่จะนำเงินไปชำระในภาคกลางวัน และใน 9 คนนั้น มีนักเรียนไปแจ้งความรวม 5 คน โดย 4 ใน 5 คนนั้นเป็นนักเรียนที่โอนมาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ในปีที่ 2 เทอมสุดท้ายซึ่งต้องชำระค่าเรียนเพียงคนละ 7,000 บาท ไม่ใช่คนละ 20,000 บาท และต่อมาจำเลยโอนเงิน 100,000 บาทคืนเข้าบัญชีโรงเรียนแล้ว เจือสมทางนำสืบของจำเลยที่รับว่าจำเลยรับเงินจากนักเรียนตามคำร้องทั่วไป เพียง 84,400 บาท เท่านั้น และเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2541 จำเลยโอนเงิน 100,000 บาท ที่กู้มาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูคืนเข้าบัญชีโรงเรียนแล้วตามใบนำฝากและระเบียนแสดงผลการเรียน พยานจำเลยมีพยานเอกสารดังกล่าวมาแสดงสนับสนุนน่าเชื่อถือจึงมีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำนวนเงินที่จำเลยยักยอกไปมีไม่เกิน 100,000 บาท และจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวโอนเข้าบัญชีของโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยคืนเงิน 37,400 บาทแก่ผู้เสียหายอีก
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกเว้นคำขอให้จำเลยคืนเงิน 37,400 บาท ให้ยกเสีย

Share