คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9948/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง นอกจากจะหมายถึงการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้แล้ว ยังหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปอีกด้วย
คดีนี้จำเลยจ้างโจทก์มาเพื่อจะให้ทำงานให้แก่จำเลย หมายความว่าจำเลยดำเนินกิจการมีงานที่จะมอบหมายให้โจทก์ทำตามที่จ้าง และในขณะเดียวกันจำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ โดยจำเลยมีเงินที่จะจ่ายค่าจ้างได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2538 ไม่ว่าจะเป็นเพราะจำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทำหรือเพราะเหตุอื่นใด และโจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากจำเลยไม่มีเงินจะจ่ายให้ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมอยู่ในความหมายที่ว่า เป็นกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่จำต้องคำนึงว่าในเวลาภายหน้าจำเลยจะมีงานให้โจทก์ทำและมีเงินจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์แต่ละคนหรือไม่
ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ให้การไว้จำเลยที่ 2 ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1เป็นบริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 77ประกอบมาตรา 820 กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลแรงงานในส่วนค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่ายของโจทก์มีการพิมพ์จำนวนเงินผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

Share