คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9941/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามพฤติการณ์ทั้งโจทก์ ศ. และ น. ต่างมีความประสงค์ที่จะหาเงินเพื่อมาลงทุนค้าขาย เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยเป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน การที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในเวลาต่อมาไม่ว่าด้วยประการใดๆ ย่อมทำให้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมต้องเข้าใจว่าการที่ ศ. สั่งจ่ายเช็คซึ่งบัญชีปิดแล้วและลายมือชื่อไม่ตรงตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเป็นผลทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ ซึ่งเท่ากับมีผลทำให้จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้เงินกู้ยืมจากโจทก์นั่นเอง บุคคลในสถานะเช่นจำเลยย่อมต้องเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อกู้ยืมเงินต้องมีส่วนรู้เห็นกับ ศ. ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่จำเลย โดยมิพักต้องคำนึงว่าตัวโจทก์จะอยู่รู้เห็นในขณะที่ ศ. ออกเช็คนั้นหรือไม่ก็ตาม เมื่อ ศ. เป็นผู้ที่ติดต่อให้โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อประโยชน์ของ น. บุตรโจทก์ที่จะหาเงินร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. และเช็คนั้นก็เป็นเช็คที่สั่งจ่ายตามจำนวนเท่ากับที่โจทก์กู้ยืม และลงวันที่เดียวกับวันครบกำหนดที่โจทก์ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนให้แก่จำเลยเช่นนี้ เช็คฉบับดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่ ศ. ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินของโจทก์ในอันที่จะได้เงินจากจำเลยไปมอบให้แก่ น. เพื่อร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินที่ให้กู้ยืมคืน การที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์รู้เห็นกับ ศ. ในการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเข้าใจเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีอาญาต่อโจทก์และ ศ. กล่าวหาโจทก์และ ศ. ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และ ศ. ร่วมกันหลอกลวงเอาเงิน 1,100,000 บาท ไปจากจำเลยแล้วไม่คืนให้ตามที่ตกลงกันโดยจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีอาญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จแล้ว การที่จำเลยเบิกความไปตามที่ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 1 ปี ฐานเบิกความเท็จ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ได้ความจากโจทก์ว่า ในการทำสัญญากู้เงินจำนวน 1,100,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้เงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้กู้ โดยโจทก์นำโฉนดที่ดินเลขที่ 5853 ตำบลหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และโฉนดที่ดินเลขที่ 44322 ตำบลชากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกัน โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในเวลาต่อมาจำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์กับนายศิวดล ผู้สั่งจ่ายเช็ค ให้ร่วมกันรับผิดชำระเงินที่กู้ไปจากจำเลยจำนวน 1,100,000 บาท และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 ให้โจทก์กับนายศิวดลร่วมกันชำระหนี้เท่าที่ยังค้างอยู่แก่จำเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยในส่วนแพ่งร่วมกับนายศิวดลจริง โจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องถึงสาเหตุที่โจทก์ขอกู้ยืมเงินจากจำเลยว่าเนื่องจากนายนุภาพ บุตรโจทก์ประสงค์ที่จะร่วมลงทุนค้าขายกับนายศิวดลแต่นายนุภาพไม่มีทุน นายศิวดลจึงแนะนำให้จำเลยรู้จักกับโจทก์ เพื่อจะได้กู้ยืมเงินจากจำเลย โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า นายนุภาพบุตรโจทก์เป็นคนแนะนำให้โจทก์รู้จักกับนายศิวดล ก่อนที่จะกู้ยืมเงินจากจำเลยประมาณ 3 เดือน โจทก์เห็นว่านายนุภาพบุตรโจทก์ยังไม่มีงานทำและตัวโจทก์เองก็ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะให้นายนุภาพร่วมลงทุนค้าขายกับนายศิวดล จึงขอให้นายศิวดลช่วยหาแหล่งเงินกู้ให้ จึงได้พบและทำสัญญากู้ยืมเงินจากจำเลย ดังนี้เห็นได้ว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าวทั้งโจทก์ นายศิวดล และนายนุภาพต่างมีความประสงค์ที่จะหาเงินเพื่อมาลงทุนค้าขาย เมื่อโจทก์รับอยู่ว่าจำเลยเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินที่พิพาท การที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในเวลาต่อมา ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ย่อมทำให้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมต้องเข้าใจว่า การที่นายศิวดลสั่งจ่ายเช็คซึ่งบัญชีปิดแล้วและลายมือชื่อไม่ตรงตามตัวย่างที่ให้ไว้กับธนาคาร เป็นผลทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ ซึ่งเท่ากับมีผลทำให้จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้เงินกู้ยืมจากโจทก์นั่นเอง บุคคลในสถานะเช่นจำเลย ย่อมต้องเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อกู้ยืมเงินต้องมีส่วนรู้เห็นกับการที่นายศิวดลออกเช็คชำระหนี้ให้แก่จำเลย โดยมิพักต้องคำนึงว่าตัวโจทก์จะอยู่รู้เห็นในขณะที่นายศิวดลออกเช็คนั้นหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์รับอยู่แล้วว่า นายศิวดลเป็นผู้ที่ติดต่อให้โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อประโยชน์ของนายนุภาพบุตรโจทก์ที่จะหาเงินร่วมลงทุนค้าขายกับนายศิวดล และเช็คนั้นก็เป็นเช็คที่สั่งจ่ายตามจำนวนเท่ากับที่โจทก์กู้ยืม และลงวันที่วันเดียวกับวันครบกำหนดที่โจทก์ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนให้แก่จำเลย เช่นนี้ เช็คฉบับดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่นายศิวดลได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินของโจทก์ในอันที่จะได้เงินจากจำเลยไปมอบให้แก่นายนุภาพเพื่อร่วมลงทุนค้าขายกับนายศิวดลต่อไปนั่นเอง เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินที่ให้กู้ยืมคืน การที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์รู้เห็นกับนายศิวดลในการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเข้าใจเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีอาญาต่อโจทก์และนายศิวดล กล่าวหาว่าโจทก์และนายศิวดลร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และนายศิวดลร่วมกันหลอกลวงเอาเงิน 1,100,000 บาท ไปจากจำเลยแล้วไม่คืนให้ตามที่ตกลงกัน โดยจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีอาญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จแล้ว การที่จำเลยเบิกความไปตามที่ฟ้องนั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share