คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9699/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องเดิมเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจากการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า โดยการกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งห้าจงใจทำงานล่าช้า ยุยงส่งเสริมให้ลูกจ้างในแผนกเดียวกันผละงานหรือหยุดงานโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม อันเป็นฟ้องที่เกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แต่ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ข้อ 7.1 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ทั้งห้าผละงานจนจำเลยที่ 1 ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าและต้องเสียค่าปรับในการผิดนัดส่งสินค้า เนื่องจากค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากมีการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละประเด็นแตกต่างกัน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ส่วนฟ้องแย้งข้อ 7.2 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของจำเลยที่ 1 ในการนำผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาฝึกอบรมบุคลากรที่เข้ามาทดแทนพนักงานฝ่ายการผลิต ก็เป็นค่าใช้จ่ายอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ไปในการว่าจ้างพนักงานอื่นไม่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแล้วจะว่าจ้างผู้อื่นหรือไม่ ย่อมเป็นความประสงค์ซึ่งจำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ทั้งห้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
สำหรับฟ้องแย้งข้อ 7.3 และ 7.4 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายจากความเสื่อมเสียชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และการเสียโอกาสขายสินค้า เห็นว่า ฟ้องแย้งเป็นคดีอันเกิดจากมูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานแต่ฟ้องเดิมเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้ฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งข้อนี้จึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งห้าฟ้องจำเลยทั้งสองมีใจความทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าด้วยเหตุจงใจทำงานล่าช้า ยุยงส่งเสริมให้ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ผละงานหรือหยุดงานโดยไม่ชอบ ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยที่ 1 อันชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรง ทั้งที่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน ได้ยื่นคำร้องทุกข์ไปตามระเบียบ แต่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมจำเลยที่ 1 ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ทั้งห้าจำนวน 15 วัน คิดเป็นค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้องแต่ละสำนวน และยังต้องชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองต้องจ่ายเงินสมทบแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องแต่ละสำนวน ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุก 7 วัน ค่าเสียหายจากการทำละเมิด นับตั้งแต่และถัดจากวันเลิกจ้าง ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเงินสมทบ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งห้าไม่พอใจที่ถูกจำเลยที่ 1 ย้ายจากฝ่ายผลิตไปอยู่ฝ่ายบริหารคุณภาพ จึงหว่านล้อม ชักจูง และข่มขู่พนักงานในแผนกการผลิตให้ชะลอการทำงาน ผละงาน กระทำผิดอาญาร้ายแรงต่อผู้บริหารของจำเลยที่ 1 จนผลิตสินค้าส่งมอบได้ไม่ทันตามคำสั่งซื้อ เป็นเหตุให้ผิดนัดผิดสัญญาต่อลูกค้าหลายรายทำให้ลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2550 เป็นเงินจำนวน 2,600,000 บาท และทำให้ผิดนัดผิดสัญญาเป็นเหตุให้ถูกปรับเป็นเงินจำนวน 2,547,505 บาท เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เสียหาย การเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง โจทก์ทั้งห้าต้องรับผิดชำระค่าเสียหายจำนวน 5,147,505 บาท ค่าใช้จ่ายจากการฝึกอบรมบุคลากรที่มาทดแทนเป็นเงินจำนวน 290,000 บาท ค่าเสียหายจากความเสื่อมเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ เป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท ค่าเสียหายจากการสูญเสียโอกาสที่ลูกค้าหันไปใช้สินค้าอื่นแทนสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 25,437,505 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทั้งห้าถูกไล่ออกจากงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งห้าแถลงว่าได้รับค่าจ้างจ่ายจากจำเลยที่ 1 แล้ว
ศาลแรงงานกลางสั่งคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า รับเป็นคำให้การของจำเลยที่ 1 ส่วนฟ้องแย้งนั้นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 1 ทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องเดิมเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจากการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยการกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งห้าจงใจทำงานล่าช้ายุยงส่งเสริมให้ลูกจ้างในแผนกเดียวกันผละงานหรือหยุดงานโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม อันเป็นฟ้องที่เกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ข้อ 7.1 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ทั้งห้าผละงานจนจำเลยที่ 1 ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าและต้องเสียค่าปรับในการผิดนัดส่งสินค้า เห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากมีการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละประเด็นแตกต่างกัน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ส่วนฟ้องแย้งข้อ 7.2 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของจำเลยที่ 1 ในการนำผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาฝึกอบรมบุคลากาที่เข้ามาทดแทนพนักงานฝ่ายการผลิต ก็เป็นค่าใช้จ่ายอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ไปในการว่าจ้างพนักงานอื่นไม่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแล้วจะว่าจ้างผู้อื่นหรือไม่ ย่อมเป็นความประสงค์ซึ่งจำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ทั้งห้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย สำหรับฟ้องแย้งข้อ 7.3 และ 7.4 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายจากความเสื่อมเสียชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือและการเสียโอกาสขายสินค้า เห็นว่า ฟ้องแย้งเป็นคดีอันเกิดจากมูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่ฟ้องเดิมเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้ฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งข้อนี้จึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share