คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตกลงระหว่างโจทก์และ ท. จะกำหนดว่า ถ้าภาพถ่ายตามสัญญาถูกตีพิมพ์เพื่อการพาณิชย์ที่ไม่ใช่ของบริษัท น. แล้ว ให้ถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา ท. จะเรียกเอาค่าเสียหายจากโจทก์หรือฟ้องร้องผู้ละเมิดก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่คดีนี้ไม่มีปัญหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายดังกล่าวจะหมดสิทธิในความเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีแก่ผู้กระทำผิดหรือไม่ยอมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างถ่ายแบบ ดังนั้น หากมีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการพิมพ์หนังสือ”ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดทำขึ้นในการพิมพ์หนังสือนี้และหนังสือที่พิมพ์ออกมามีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิมพ์ และจำเลยที่ 9 เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 9 ได้แบ่งหน้าที่กันทำงานในส่วนของตน โดยรู้ถึงการกระทำของกันและกันตามที่ระบุไว้ในแม่พิมพ์และหนังสือดังกล่าวเพื่อให้การพิมพ์หนังสือนี้สำเร็จลง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 9 มีเจตนาร่วมกระทำผิดด้วยการทำซ้ำงานดังกล่าวด้วยกัน ส่วนจำเลยที่ 15 เป็นเพียงผู้รับจ้างจากบริษัท 222 ให้ทำงานจัดจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดฐานเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าโดยเฉพาะเท่านั้น อันเป็นความผิดคนละส่วนกัน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทภาพถ่ายและภาพพิมพ์ของนางสาวทิพย์วรรณหรือชโลมจิต จันทร์เกตุ หรือลูกตาล ซึ่งโจทก์ว่าจ้างนางสาวทิพย์วรรณเป็นนางแบบให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยนำภาพถ่ายของนางสาวทิพย์วรรณซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ใช้ชื่อหนังสือว่า “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ซึ่งเป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง และนำหนังสือดังกล่าวออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 27, 31, 69, 70, 74, 75, 76 และ 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาจำนวนกึ่งหนึ่งแก่โจทก์

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 21 ที่ 24 และที่ 25 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 22 ที่ 23 และที่ 26หลบหนีระหว่างพิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 22 ที่ 23 และที่ 26

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27, 31, 69, 70, 74, 75, 76 และ 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 9 และที่ 15 คนละ 400,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 11 ที่ 17 ที่ 18 และที่ 19 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 400,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 11 และที่ 17 ถึงที่ 19 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 11 และที่ 17 ถึงที่ 19กลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 24 และที่ 25

จำเลยที่ 1 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ได้ว่าจ้างนางสาวทิพย์วรรณหรือชโลมจิต จันทร์เกตุ หรือลูกตาลเป็นนางแบบถ่ายภาพศิลป์ โดยมีนางสาวนิธิกาญจน์ สิงห์เทียน หรืออัญมณี สีชาดเป็นผู้ถ่ายภาพและตกลงกันให้ภาพถ่ายทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อประมาณต้นปี 2539 โจทก์นำภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “เลิฟซีน”(Love Scene) ออกจำหน่าย ครั้นเดือนมีนาคม 2540 มีหนังสือชื่อ “ร้อนเสน่หานางฟ้านุ่งลม” ออกจำหน่าย โดยมีภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ในหนังสือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิมพ์จำเลยที่ 9 เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ และจำเลยที่ 15 เป็นผู้จัดจำหน่าย

ที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า สัญญาว่าจ้างถ่ายแบบตามเอกสารหมาย จ.2ข้อ 6. มีเจตนาคุ้มครองนางสาวทิพย์วรรณไม่ให้โจทก์นำภาพถ่ายไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยไม่มีขอบเขตจำกัด เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจึงหมดสิทธิเป็นผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องในปัญหาข้อนี้ เห็นว่า สัญญาว่าจ้างถ่ายแบบตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวทิพย์วรรณซึ่งมีสาระสำคัญว่า ถ้าภาพถ่ายตามสัญญาฉบับนี้ถูกตีพิมพ์เพื่อการพาณิชย์ที่ไม่ใช่ของบริษัทโน๊ต พับลิชชิ่ง จำกัดแล้ว ให้ถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา นางสาวทิพย์วรรณจะเรียกเอาค่าเสียหายจากโจทก์หรือฟ้องร้องผู้ทำละเมิดก็ได้ตามแต่จะเลือก คดีนี้ไม่มีปัญหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายดังกล่าวจะหมดสิทธิในความเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีแก่ผู้กระทำผิดหรือไม่ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างถ่ายแบบตามเอกสารหมาย จ.2 ดังนั้น ถ้ามีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้น”

อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 9 ที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 27, 31, 69, 70, 74, 75, 76 และ 78 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 โดยวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและให้ลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น เห็นว่า เป็นการปรับบทมาตราที่บางมาตรามิใช่บทกำหนดความผิดและกำหนดโทษ และมิได้ระบุวรรคให้ถูกต้อง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ที่ 9 และที่ 15 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดแยกจากกันแม้จะได้ความว่าเป็นบริษัทจำกัดในเครือเดียวกันหรือมีการถือหุ้นไขว้กันก็มิได้หมายความว่าจะต้องมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดด้วย เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการพิมพ์หนังสือ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดทำขึ้นในการพิมพ์หนังสือนี้ และหนังสือที่พิมพ์ออกมามีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิมพ์ และจำเลยที่ 9 เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 9 ได้แบ่งหน้าที่กันทำงานในส่วนของตน โดยรู้ถึงการกระทำของกันและกันตามที่ระบุไว้ในแม่พิมพ์และหนังสือดังกล่าวเพื่อให้การพิมพ์หนังสือนี้สำเร็จลง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 9 มีเจตนาร่วมกระทำผิดด้วยการทำซ้ำงานดังกล่าวด้วยกัน ส่วนจำเลยที่ 15 ปรากฏเพียงว่าเป็นผู้รับจ้างจากบริษัท 222 วิภาวดี จำกัด ให้ทำงานจัดจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดฐานเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนโดยเฉพาะเท่านั้น อันเป็นความผิดคนละส่วนกัน โดยไม่ปรากฏเลยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 9 กับจำเลยที่ 15 มีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดคดีนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 กับที่ 9 และการกระทำของจำเลยที่ 15 จึงเป็นความผิดเฉพาะในส่วนของแต่ละฝ่ายเท่านั้น กล่าวคือจำเลยที่ 1 และที่ 9 มีความผิดฐานร่วมกันทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยการจัดพิมพ์หนังสืออันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ส่วนจำเลยที่ 15 มีความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยจำเลยที่ 17 ถึงที่ 19 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 15 ด้วยปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27(1), 69 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31(2), 70 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 11 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share