คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต่อเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งไม่อยู่ปฏิบัติราชการ
การกำหนดราคาสูงสุดตาม พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรนั้นถ้าคณะกรรมการไม่กำหนดให้ปิดป้ายแสดงราคาของไว้ด้วยผู้ค้าก็ไม่ต้องปิดป้ายแสดงราคา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 คณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดเพชรบุรีได้ออกประกาศ ฉบับที่ 21 พ.ศ. 2495 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2495 ระบุว่าเนื้อสุกรชำแหละทุกชนิดเป็นสิ่งของที่ห้ามค้ากำไรเกินควร และห้ามมิให้ผู้ใดในเขตท้องที่ทุกอำเภอในจังหวัดเพชรบุรีขายเนื้อสุกรและมันสุกรเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้และให้ผู้ขายสิ่งของที่ควบคุมดังกล่าวแล้วทำป้ายแสดงราคาเป็นภาษาไทยขนาดตัวอักษรในป้ายต้องมีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 5 เซ็นติเมตร และกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เซ็นติเมตรประกอบด้วยตัวเลขไทยมีความสูงไม่ต่ำกว่าอักษรไทยที่ใช้ในป้ายนั้นติดตั้งไว้ ณ ที่ซึ่งจำหน่ายโดยเปิดเผยให้ผู้ซื้อเห็นได้ชัดเจนดังสำเนาประกาศท้ายฟ้อง ซึ่งประกาศนี้ยังคงใช้อยู่ และจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2499 เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจขายเนื้อสุกรชำแหละอันเป็นสิ่งที่ควบคุมให้แก่ประชาชนโดยมิได้ทำป้ายแสดงราคาขายเป็นภาษาไทยประกอบด้วยตัวเลขบอกราคา เป็นตัวเลขไทย ติดตั้งไว้ ณ ที่ซึ่งจำหน่ายโดยเปิดเผยให้ผู้ซื้อเห็นโดยชัดเจน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดเพชรบุรีดังกล่าวแล้ว เหตุเกิดที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย

จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยได้ทำป้ายแสดงราคาเนื้อสุกรชำแหละไว้แล้ว และประกาศคณะกรรมการป้องกันการค้ากำไรเกินควรท้ายฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้ว มีความเห็นในข้อกฎหมายว่า ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดเพชรบุรี ฉบับที่ 21 พ.ศ. 2495 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2495 ข้อ 5 ที่กำหนดให้ผู้ขายทำป้ายแสดงราคานั้นกรรมการตัวจริงที่เข้าประชุม 5 คน ไม่ถึงครึ่งจำนวนกรรมการ และมีผู้เข้าประชุมแทน 3 คน จึงไม่เป็นองค์ประชุม มติของที่ประชุมไม่ได้ หากจะฟังว่าการประชุมครบองค์ประชุมก็ดี หรือมติที่ประชุมใช้ได้ก็ดี การประชุมนั้นก็เฉพาะเรื่องกำหนดราคาเนื้อสุกรชำแหละ ไม่มีการประชุมให้ทำป้ายบอกราคาด้วยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ผู้ฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ไม่มีความผิดตามโจทก์ฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงคงยุติตามที่ศาลล่างฟังต้องกันมา ว่าตามคำสั่งและประกาศแต่งตั้งของข้าหลวงประจำจังหวัดเพชรบุรี ที่ 83/2490 ลงวันที่ 22 กันยายน 2490 ประกาศลงวันที่ 20 สิงหาคม 2490 และคำสั่งที่ 70/2493 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2493 มีกรรมการคือ 1. ปลัดจังหวัดเพชรบุรี 2. สรรพากรจังหวัดเพชรบุรี 3. นายอนันต์ ประจวบเหมาะ 4. ศึกษาธิการจังหวัดเพชรบุรี 5. นายอำเภอเมืองเพชรบุรี 6. สรรพสามิตจังหวัดเพชรบุรี 7. ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี 8. ประมงจังหวัดเพชรบุรี 9. อัยการจังหวัดเพชรบุรี 10. ผู้ตรวจการเทศบาล รวมทั้งข้าหลวงประจำจังหวัดซึ่งเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่งด้วยเป็น 11 คน แต่ในการประชุมครั้งที่ 3/2495 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2495 อันเป็นผลให้คณะกรรมการออกประกาศฉบับที่ 21 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2495 นั้นคงมีกรรมการตัวจริง มาประชุมเพียง 5 คน และมีผู้เข้าประชุมแทนอัยการจังหวัดนายอำเภอเมือง ศึกษาธิการจังหวัด ตำแหน่งละคน ทั้งไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดเพชรบุรีเคยประชุมเรื่องกำหนดให้แสดงป้ายบอกราคาขายเนื้อสุกรชำแหละ

ข้อเท็จจริงดังนี้ โจทก์จึงฎีกาข้อกฎหมายข้อแรกว่า ผู้แทนทั้ง 3 นายเป็นผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจเช่นเดียวกัน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำสั่งข้าหลวงประจำจังหวัดเพชรบุรีตั้งกรรมการป้องกันการค้ากำไรเกินควร เป็นการตั้งเฉพาะตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ เพราะฉะนั้นพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 49 ที่บัญญัติให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนมีอำนาจหน้าที่ได้เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่ง จะต้องได้ความว่าผู้ดำรงตำแหน่งอื่นรักษาราชการแทนซึ่งโจทก์มิได้สืบแสดงไว้เลย เพราะถ้าผู้ดำรงตำแหน่งคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้ว อำนาจของผู้แทนหาเกิดขึ้นไม่ ฎีกาโจทก์ข้อนี้เป็นอันตกไป

ฎีกาโจทก์ข้อหลังว่า เมื่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรได้ประกาศราคาสูงสุดให้จำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละแล้ว ป้ายแสดงราคาเนื้อสุกรจำเลยก็มีหน้าที่ต้องทำติดตั้งไว้ ณ ที่จำหน่ายโดยเปิดเผยคู่กันไปด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 8ให้อำนาจคณะกรรมการหลายประการ แต่ละประการไม่จำต้องใช้บังคับพร้อมกันทั้งหมด ความเหมาะสมมีเพียงใดก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการจะต้องมีมติให้ถูกต้องเป็นราย ๆ ไป อนึ่ง ตามมาตรา 16 จะเห็นได้จากความตอนหนึ่งว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการได้ตั้งราคาสูงสุดของสิ่งของใด หรือ ให้แสดงราคาของสิ่งนั้นไว้ ฯลฯ” นั้นมีความหมายเป็นคนละเรื่องทีเดียว เพราะแม้คณะกรรมการจะได้มีมติกำหนดราคาสูงสุดไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่บังคับว่าผู้ขายจะขายต่ำกว่าราคานั้นไม่ได้ การที่ผู้ขายจะขายเท่าใดจึงย่อมต้องเป็นไปตามที่ผู้ขายเห็นสมควร อย่าให้เกินราคาสูงสุดที่เจ้าหน้าที่กำหนดก็แล้วกันเมื่อกรณีอาจเป็นได้เช่นนี้ จึงไม่มีทางจะให้เห็นว่าการกำหนดราคาสูงสุดกับการทำป้ายแสดงราคาเป็นเรื่องที่จะต้องทำคู่กันดังฎีกาโจทก์

ศาลฎีกาคงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์

Share