คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9933/2539

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวให้ไถ่ถอนจำนองให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันซึ่งหักทอนบัญชีกันณวันที่29มกราคม2531เป็นเงิน505,379.05บาทให้เสร็จสิ้นภายใน15วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือโดยหนังสือของโจทก์ดังกล่าวได้ระบุว่าเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาด้วยแสดงว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้จำเลยที่1ชำระหนี้ที่คงเหลือแล้วจึงไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1อีกต่อไปถือได้ว่าเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา859ดังนั้นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1จึงสิ้นสุดลงเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามกฎหมายแล้วสัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมสิ้นสุดลงทันทีหากจะมีการต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไปอีกก็จะต้องมีการทำสัญญากันใหม่และในทางปฎิบัติของธนาคารโจทก์หลังจากที่มีการบอกเลิกสัญญาเงินเกินบัญชีแล้วหากลูกค้าต้องการเดินบัญชีต่อก็ต้องทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีใหม่เมื่อโจทก์และจำเลยที่1ไม่ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกันใหม่การกระทำของโจทก์และจำเลยที่1ที่ว่าหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำเลยที่1ยังไม่ชำระหนี้และยังสั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีพร้อมทั้งนำเงินฝากเข้าบัญชีลดยอดหนี้หลายครั้งนั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นการต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ครบกำหนด15วันนับแต่วันที่จำเลยที่1ได้รับหนังสือของโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่าเพื่อตอบแทนการที่โจทก์ยอมให้จำเลยกู้เงินจากโจทก์ตามสัญญาเป็นจำนวนเงิน300,000บาทนั้นจำเลยที่2ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันรับผิดร่วมกับจำเลยในการชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงดังนี้ตามข้อสัญญาดังกล่าวหมายความว่าจำเลยที่2ยอมค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่1ในการเบิกเงินเกินบัญชีไม่เกินจำนวน300,000บาทเท่านั้นหาใช่จำเลยที่2ยอมรับผิดชำระหนี้แทนจำเลยที่1โดยไม่จำกัดจำนวนไม่เพราะมิฉะนั้นแล้วในสัญญาค้ำประกันจะต้องระบุไว้โดยชัดเจนให้จำเลยที่2รับผิดโดยไม่จำกัดวงเงิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2526 จำเลยที่ 1ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาบางครุ ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ วงเงิน 300,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีตามประเพณีธนาคารจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 และร่วมรับผิดในวงเงิน 300,000 บาท และจดทะเบียนจำนองที่ดิน 1 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ดังกล่าวและหนี้อื่นของจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชำระส่วนที่ยังขาดอยู่จนครบถ้วนจำเลยที่ 1 เดินสะพัดบัญชีกับโจทก์จนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2535โจทก์ได้หักทอนบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 982,504.14บาท โจทก์มีหนังสือทวงถาม จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องเสียดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 49,293.54 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,031,797.68 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,031,797.68 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจากต้นเงิน 982,504.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2531 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียง 505,379.05 บาท และเมื่อวันที่26 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันดังกล่าวจำเลยที่ 2 ค้ำประกันสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1ฉบับลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงรับผิดในวงเงินและอุปกรณ์แห่งหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน1,031,797.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 982,504.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 105430แขวงลาดพร้าว เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองเพื่อชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน505,379.05 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5ต่อปีโดยวิธีทบต้นตามประเพณีธนาคารนับแต่วันที่ 29 มกราคม2531 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2531 ดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวโดยไม่ทบต้นนับต่อจากนั้นไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2535ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2531เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันชำระเงินตามส่วนที่ตนจะต้องรับผิดเสร็จ ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะว่ากล่าวเรื่องเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คเบิกถอนจากบัญชีกระแสรายวันหลังจากวันที่ 12 มีนาคม 2531 ภายในอายุความนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีประเภทเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในลักษณะบัญชีเดินสะพัด โดยไม่มีกำหนดเวลาชำระเงินต้นและใช้บัญชีดังกล่าวในการเบิกงานเกินบัญชีในวงเงิน 300,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2ยอมรับผิดชำระส่วนที่ยังขาดอยู่จนครบถ้วนและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 300,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์2531 โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2535 หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวให้ไถ่ถอนจำนองตามเอกสารหมาย ล.1ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันซึ่งหักทอนบัญชีกัน ณ วันที่ 29 มกราคม 2531 เป็นเงิน505,379.05 บาท ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยหนังสือของโจทก์ดังกล่าวได้ระบุว่าเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาด้วย แสดงว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี หักทอนบัญชีและเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 คงเหลือแล้ว จึงไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อีกต่อไปถือได้ว่าเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 ดังนั้นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ตกลงต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อไปอีกโดยจำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระหนี้ และยังสั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีพร้อมทั้งนำเงินฝากเข้าบัญชีลดยอดหนี้หลายครั้งนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามกฎหมายแล้ว สัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมสิ้นสุดลงทันทีหากจะมีการต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไปอีกก็จะต้องมีการทำสัญญากันใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้นายมนัส แพรวิจิตรพนักงานของโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าในทางปฎิบัติหลังจากที่มีการบอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วหากลูกค้าต้องการเดินบัญชีต่อก็ต้องทำสัญญาต่อก็ต้องทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีใหม่ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกันใหม่ การกระทำของโจทก์และจำเลยที่ 1จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2531หลังจากนั้นคงเรียกได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดานั้นชอบแล้ว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ โดยไม่จำกัดวงเงินหรือไม่ ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1มีข้อความว่า “เพื่อตอบแทนการที่ผู้ให้กู้ยอมให้นายสุรพงษ์วิภูสิทธิกุล ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่าผู้กู้ กู้เงินจากผู้ให้กู้ตามสัญญาลงวันที่ 1 มีนาคม 2527 (ที่ถูกเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์2527) เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท นั้น ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันรับผิดร่วมกับผู้ในการชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วจนกว่าผู้ให้กู้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง”เห็นว่า ตามข้อสัญญาดังกล่าวหมายความว่า จำเลยที่ 2 ยอมค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในการเบิกเงินเกินบัญชีไม่เกินจำนวน300,000 บาท เท่านั้น หาใช่จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนไม่เพราะมิฉะนั้นแล้วในสัญญาค้ำประกันจะต้องระบุโดยชัดเจนให้จำเลยที่ 2 รับผิดโดยไม่จำกัดวงเงิน
พิพากษายืน

Share