แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ให้การในชั้นตรวจสอบไต่สวนต่อเจ้าพนักงานประเมินรับรองว่าจะนำหลักฐานการขายรถยนต์ของตัวแทนโจทก์มามอบให้เจ้าพนักงานประเมินจนครบถ้วนแล้วโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำรับรองดังนี้ คำรับรองดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และจะนำประมวลรัษฎากรมาตรา 21 มาใช้บังคับแก่โจทก์หาได้ไม่ โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินได้
บัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นที่เจ้าพนักงานประเมินต้องการจากโจทก์นั้น ผู้แทนจำหน่ายซึ่งเป็นบุคคลต่างหากจากโจทก์เป็นผู้จัดทำและเก็บรักษาและเอกสารดังกล่าวไม่มีที่โจทก์ ดังนั้นการที่โจทก์ไม่ส่งเอกสารดังกล่าวตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์การประเมิน
คำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ลงชื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัทโจทก์ไม่ครบถ้วนตามที่จดทะเบียนไว้ แต่เจ้าพนักงานของจำเลยก็ยอมรับโดยมิได้ท้วงติงและรับวินิจฉัยให้โจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับเอาคำอุทธรณ์นั้นโดยมิได้โต้แย้งจึงเท่ากับเป็นการให้สัตยาบัน คำอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เสียไปจำเลยจะอ้างว่าคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไม่ชอบและถือว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1111 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดว่าในการจดทะเบียนบริษัทนั้น ใบทะเบียนจะต้องมีข้อความตามที่ระบุไว้ในมาตรานี้ มิใช่เป็นแบบที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับผู้มีอำนาจกระทำในนามนิติบุคคลแต่อย่างใด ดังนั้น แม้กรรมการผู้มีอำนาจกระทำในนามบริษัทโจทก์ลงชื่อในคำอุทธรณ์การประเมินไม่ครบถ้วนก็หาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 115ไม่ เมื่อบริษัทโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว คำอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์จึงไม่เสียไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ประกอบการค้าประเภทประกอบรถยนต์แบบต่าง ๆเพื่อจำหน่าย โดยมีบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัดเป็นผู้แทนจำหน่ายในการเสียภาษีการค้าโจทก์นำรายรับจากราคาของรถยนต์แต่ละชนิดคูณด้วยจำนวนคันของรถยนต์ชนิดนั้นแล้วนำผลลัพธ์ไปเสียภาษีการค้าอย่างถูกต้องครบถ้วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 แจ้งการประเมินภาษีการค้าให้โจทก์เสียเพิ่มรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 1,622,985.66 บาทอ้างเหตุผลว่าบริษัทสิทธิผลมอเตอร์จำกัดขายรถยนต์บางคันเกินกว่ามูลค่าที่โจทก์แจ้งไว้ต่อสรรพากรจังหวัดจึงได้คำนวณราคาถัวเฉลี่ยสำหรับรถยนต์ที่ขายเกินราคาแล้วเอาจำนวนเงินที่เกินคูณด้วยจำนวนคันของรถยนต์ที่โจทก์ขายทั้งหมดในเดือนนั้น ถือเป็นรายรับที่ต้องคำนวณภาษีการค้าเพิ่มเติมตามที่ประเมินข้างต้น โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเงินภาษีการค้าและเงินเพิ่มให้เป็นไปตามการประเมินเดิม แต่ให้ลดเบี้ยปรับ 70เปอร์เซ็นต์โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะประมวลรัษฎากรมาตรา 77 ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่กค.0809/11147 เรื่องให้ผู้ประกอบการค้าแจ้งมูลค่าของสินค้ารถยนต์บัญญัติให้มูลค่าของรถยนต์ที่ต้องเสียภาษีการค้าหมายถึงราคาตลาดของรถยนต์ที่ซื้อขายกันเป็นเงินสดอันผู้ขายปลีกได้ตั้งไว้โดยสุจริตและเปิดเผยการขายรถยนต์ในท้องตลาดต้องขายตามราคาที่โฆษณาไว้เหตุที่ขายเกินราคาเพราะผู้ซื้อต้องการอุปกรณ์ตกแต่งนอกเหนือจากเครื่องมือประจำรถยนต์ตามปกติเช่นยางปูพื้นติดยางกันโคลน ติดเข็มขัดนิรภัย วิทยุและเครื่องเล่นเทปเป็นต้นราคาส่วนที่สูงขึ้นคือราคาของอุปกรณ์ดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นนั่นเองโจทก์จึงไม่ต้องรับภาระในกรณีเช่นนี้นอกจากนี้ตามประกาศกรมสรรพากรข้างต้นระบุว่าหากราคาตลาดของรถยนต์มีหลายราคาก็ให้ถือเอาตามราคาตลาดอันผู้ขายปลีกซึ่งทำการขายณ สถานที่ซึ่งทำการขาย ณ สถานที่ซึ่งใกล้ที่สุดกับด่านศุลกากร หรือสถานที่ผลิตสินค้านั้นแล้วแต่กรณีแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าให้ถือเอาตามราคาตลาดที่ซื้อขายกันเป็นเงินสดเฉพาะรถยนต์เท่านั้น เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาตลาดใหม่โดยถัวเฉลี่ยราคารถยนต์ซึ่งรวมราคาอุปกรณ์และเครื่องตกแต่งด้วยจึงผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการค้าจึงไม่ต้องเสียเบี้ยปรับขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าระหว่างเดือนธันวาคม 2517 ถึงเดือนธันวาคม 2519 โจทก์ยื่นแบบแจ้งราคาตลาดขายปลีกรถยนต์เก๋งเป็นเงินสดที่ตั้งไว้โดยสุจริตและเปิดเผยต่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการว่ารถยนต์นั่งมิตซูบิชิโคลท์แลนเซอร์แบบเอ 72 อีที 1 คันราคา 121,000 บาทแบบเอ72 เอ็นที 1 คันราคา 135,000 บาทต่อมาเจ้าพนักงานตรวจสอบไต่สวนพบว่าราคาขายรถยนต์ในปีพ.ศ.2519 ตัวแทนขายปลีกของโจทก์สำหรับรถยนต์บางรุ่นและบางคันเกินกว่าราคารถยนต์ที่โจทก์แจ้งไว้ต่อกรมสรรพากรโดยขายในราคาต่าง ๆ กันจึงถือว่าเข้ากรณีราคาตลาดขายปลีกมีหลายราคาและเจ้าพนักงานได้แจ้งให้โจทก์นำสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าขายรถยนต์ของบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัดในปีพ.ศ.2519 ไปให้ตรวจสอบโจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานดังกล่าวไปให้ทำการตรวจสอบได้ครบถ้วน เจ้าพนักงานจึงไม่สามารถคำนวณมูลค่าราคารถยนต์ได้ที่โจทก์ให้เหตุผลว่าราคาที่ขายสูงกว่าราคาที่แจ้งต่อกรมสรรพากรเพราะลูกค้าขอให้ตั้งอุปกรณ์พิเศษก็ปรากฏว่าหลังจากหักค่าอุปกรณ์พิเศษแล้วราคาก็ยังสูงกว่าราคาขายปลีกเงินสดที่โจทก์แจ้งไว้เจ้าพนักงานจึงคำนวณมูลค่ารถยนต์ตามราคาถัวเฉลี่ยและประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 1,622,585.66 บาทและแจ้งไปยังโจทก์แล้ว โจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่จัดส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าขายรถยนต์ไปแสดงโดยอ้างว่าหาย เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีอากรตามที่เห็นว่าถูกต้อง โจทก์จึงเป็นผู้ต้องห้ามอุทธรณ์การประเมินและไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ มีกรรมการลงชื่อไม่ครบถือได้ว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินจึงไม่มีอำนาจฟ้องการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่จัดส่งหลักฐานทางบัญชีและพยานหลักฐานอื่นไปแสดงให้ตรวจสอบ จึงเป็นผู้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินและไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจสอบหรือเจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้โจทก์นำเอกสารหรือหลักฐานในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 ไปมอบให้พนักงานตรวจสอบคงมีแต่คำให้การของนายศุภชัย ชะวะนะเวชผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ในชั้นตรวจสอบให้การไว้ว่าข้าพเจ้าจะนำหลักฐานการขายรถยนต์ของตัวแทนสำหรับปี 2519 มามอบให้ตรวจสอบจนครบถ้วนการที่นายศุภชัยรับรองกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจสอบหรือเจ้าพนักงานประเมิน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามที่นายศุภชัยรับรองไว้ก็จะนำประมวลรัษฎากรมาตรา 21 มาใช้บังคับแก่โจทก์ไม่ได้อีกประการหนึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าบัญชีและเอกสารหลักฐานการขายปลีกรถยนต์ซึ่งทางเจ้าพนักงานตรวจสอบและประเมินต้องการบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัดซึ่งเป็นบุคคลต่างหากจากโจทก์เป็นผู้จัดทำและเก็บรักษาเอกสารดังกล่าวไม่มีเพราะไม่ใช่ผู้ขายปลีก ดังนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องส่งเอกสารหลักฐานของบุคคลอื่นตามหมายเรียกจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์การประเมินส่วนปัญหาที่ว่าคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ที่ลงชื่อกรรมการเพียงคนเดียวกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัทลงชื่อไม่ครบถ้วนตามที่จดทะเบียนไว้จะถือว่าโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินแล้วหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่าตอนโจทก์มอบอำนาจให้นายศุภชัยผู้จัดการฝ่ายธุรการทั่วไปของโจทก์ไปให้การชั้นตรวจสอบไต่สวนต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบไต่สวนของจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ตามหมายเรียกโจทก์ทำใบมอบอำนาจโดยนายปริญญา ลี้อิสสระนุกูลซึ่งเป็นรองประธานบริษัทโจทก์ในขณะนั้นแต่ผู้เดียวลงชื่อเป็นผู้มอบอำนาจในนามของโจทก์และประทับตราสำคัญของโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมายล.1 ให้นายศุภชัยไปยื่นต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบของจำเลยที่ 1เจ้าพนักงานตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับโดยมิได้ท้วงติงแต่ประการใดและดำเนินการไต่สวนนายศุภชัยในฐานะตัวแทนของโจทก์ตลอดมา แสดงว่าใบมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 ของโจทก์เป็นที่ยอมรับของเจ้าพนักงานตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้นายศุภชัยมาแทนโจทก์ต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ก็ลงชื่อนายปริญญา ลี้อิสสระนุกูลกรรมการผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียวและประทับตราสำคัญของโจทก์เช่นเดียวกัน แม้กรรมการลงชื่อไม่ครบตามคำขอจดทะเบียนไว้และเมื่อโจทก์ยอมรับเอาคำอุทธรณ์นั้นโดยมิได้โต้แย้งจึงเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันคำอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เสียไปทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้รับคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไว้พิจารณาและวินิจฉัยให้แล้ว จะมาอ้างว่าคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไม่ชอบ ถือว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าการกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อให้ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนเป็นการไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1111 (6) และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 115 นั้นเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1111 เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าในการจดทะเบียนบริษัทนั้นใบทะเบียนจะต้องมีข้อความตามที่ระบุไว้ในมาตรานี้มิใช่เป็นแบบที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับผู้มีอำนาจกระทำในนามของนิติบุคคลแต่อย่างใด
พิพากษายืน.