แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 นัดแรก ซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าเกือบ 2 เดือน ไม่มีพยานมาศาล ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่าจะสืบพยาน 4 ปาก คือ จำเลยที่ 1, ป., ส. และ ก. มิได้กล่าวอ้างว่าจะต้องส่งประเด็นไปสืบ ป.ที่ศาลอื่น ทั้งมิได้กล่าวถึง พ.ด้วยศาลให้เลื่อนคดีให้จำเลยที่ 1 มีเวลาเตรียมพยาน 1 เดือนเศษโดยกำชับไว้ว่าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีกไม่ว่ากรณีใด ๆ จะให้สืบพยานเท่าที่สามารถนำมาศาลได้ ครั้นถึงวันนัด จำเลยที่ 1 สืบพยานได้เพียงตัวเองแล้วแถลงว่ายังติดใจสืบ ป. และ พ.ซึ่งจะส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่นในข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ได้เบิกความไว้แล้ว ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ประวิงคดี ศาลไม่ให้เลื่อนคดีและให้ตัดพยานที่จะสืบต่อไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 นำเช็คที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 สั่งจ่ายมาสลักหลังและขายลดแลกเงินสดไปจากโจทก์ เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ ขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้รับเงินจากการขายลดเช็คจึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยที่ 1 และให้ตัดพยานที่จำเลยที่ 1 จะสืบต่อไป พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อไป ตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ เสร็จแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นฎีกามีเพียงปัญหาเดียวว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งตัดพยานของจำเลยที่ 1 นั้น ชอบหรือไม่ทั้งนี้เพราะคู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาอื่นแต่ประการใด ในปัญหาดังกล่าวได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่15 มกราคม 2529 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 นัดแรกว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาศาลในวันดังกล่าว ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่าจะสืบพยานประมาณ 4 ปาก คือจำเลยที่ 1 นายปราโมทย์ ยิ่งเจริญนายสม บุตรทิพย์ และนายกิตติ เกียรติกนกกุล ศาลชั้นต้นสั่งว่าศาลได้กำหนดวันสืบพยานของจำเลยที่ 1 ไว้ล่วงหน้าหลายวันแล้วตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2528 แต่เนื่องจากคดีมีทุนทรัพย์มากจึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 อีกนัดหนึ่ง โดยนัดหน้าจะไม่ให้เลื่อนไม่ว่ากรณีใด ๆ จะให้สืบพยานเท่าที่สามารถนำมาศาล ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ในนัดต่อไป คือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันดังกล่าวว่า สืบพยานจำเลยที่ 1 ไปได้ปากเดียว คือตัวจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แถลงว่ายังติดใจสืบพยานจำเลยที่ 1 อีก 2 ปาก คือ นายปราโมทย์ ยิ่งเจริญ และนายพรเลิศ อินสว่าง ซึ่งจะต้องส่งประเด็นไปสืบที่ศาลจังหวัดสีคิ้วและศาลจังหวัดชัยนาทตามลำดับทนายโจทก์คัดค้านอ้างว่า เป็นการประวิงคดี ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แถลงว่า พยาน 2ปาก ที่จะขอสืบนี้จะสืบในข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ลงชื่อในเอกสารสัญญาขายลดเช็คหมาย จ.7 โดยไม่มีการกรอกข้อความ ศาลชั้นต้นสั่งว่าศาลได้สั่งไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 15 มกราคม 2529 ว่าจะให้จำเลยสืบพยานเท่าที่สามารถนำมาศาลได้ในนัดนี้ และข้อเท็จจริงที่จะสืบนั้นก็เหมือนกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุสมควรที่จะให้เลื่อนไปสืบพยานตามที่จำเลยที่ 1 ขอจึงไม่อนุญาต ถือว่าหมดพยานจำเลย นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มีนาคม 2529 เวลา 13.30 นาฬิกา
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1นัดแรกไว้ให้จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าถึงเกือบ 2 เดือน ครั้นถึงวันนัดไม่มีพยานจำเลยที่ 1 มาศาลเลย ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่าจะสืบพยานประมาณ 4 ปาก คือจำเลยที่ 1 นายปราโมทย์ ยิ่งเจริญนายสม บุตรทิพย์ และนายกิตติ เกียรติกนกกุล โดยทนายจำเลยที่ 1มิได้กล่าวอ้างว่าจะต้องส่งประเด็นไปสืบนายปราโมทย์ ยิ่งเจริญที่ศาลอื่น ทั้งมิได้กล่าวถึงนายพรเลิศ อินสว่าง แต่อย่างใดศาลชั้นต้นจึงให้โอกาสจำเลยที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง โดยให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 1 ในนัดหน้า ซึ่งจำเลยที่ 1 มีเวลาเตรียมพยานถึง1 เดือนเศษ โดยศาลชั้นต้นกำชับไว้ว่าจะไม่ให้เลื่อนอีกไม่ว่ากรณีใด ๆ จะให้จำเลยที่ 1 สืบพยานเท่าที่สามารถนำมาศาลได้ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็สืบพยานไปได้เพียงปากเดียวคือตัวจำเลยที่ 1 เอง การที่จำเลยที่ 1 แถลงว่า ยังติดใจสืบพยานอีก2 ปาก คือ นายปราโมทย์ ยิ่งเจริญ และนายพรเลิศ อินสว่างซึ่งจะต้องส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่นทั้งสองปาก ในข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 ลงชื่อในเอกสารสัญญาขายลดเช็คหมาย จ.7 โดยไม่มีการกรอกข้อความ ทั้ง ๆ ที่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ก็ได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเช่นนี้ ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1ประวิงคดีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยที่ 1ไปอีก และให้ตัดพยานที่จำเลยที่ 1 ประสงค์จะสืบต่อไปเสียนั้นชอบแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น