คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้อื่นใดที่มิได้รับอนุญาตเป็นทนายความหรือตัวความหามีอำนาจแต่งฟ้องได้ไม่
เมื่อผู้เรียงคำฟ้องไม่ได้รับอนุญาตเป็นทนายความ ฟ้องโจทก์ก็ไม่เป็นฟ้อง ศาลจะรับไว้ดำเนินคดีต่อไปหาได้ไม่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2499)

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยขอให้ศาลบังคับชำระเงิน 31,687.50 บาท จำเลยต่อสู้ว่าหนี้ค้าง 10,000 บาทเท่านั้นไม่เท่าที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง หลังชี้สองสถานแต่ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลยกขึ้นพิจารณาเบื้องต้นพิพากษายกฟ้องข้อที่ว่าฟ้องของโจทก์มีชื่อผู้อื่นเป็นผู้เรียงคำฟ้องไม่ใช่ตัวความหรือทนายความผู้มีอำนาจทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทนายความจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นฟ้อง

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนอ้างฎีกาที่ 765/2494 แต่มีความเห็นแย้ง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า พระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2477 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ผู้ใดไม่ได้รับอนุญาตเป็นทนายความหรือมิใช่เป็นตัวความจะว่าความในศาลไม่ได้ กับทั้งไม่มีอำนาจแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกาคำร้องหรือคำแถลงอันเกี่ยวกับการพิจารณาคดีในศาล” ดังนี้เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนมิให้ผู้ที่ไม่มีความรู้รับเข้าแต่งคำคู่ความในทางอรรถคดีให้ความยุติธรรมต้องเสียไปเพราะความไม่เข้าใจในทางพิจารณาของศาล ฉะนั้นเมื่อฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ได้แต่งขึ้นโดยผู้ไม่มีอำนาจที่จะแต่งได้ตามกฎหมายกล่าวคือมีนาย ป. งามสมพงษ์เป็นผู้เรียงฟ้องของโจทก์นั้นก็ไม่เป็นฟ้องที่ศาลจะพึงรับไว้ดำเนินคดีได้ การที่โจทก์เซ็นชื่อมาในช่องเป็นตัวโจทก์หรือไม่ก็ไม่อาจทำให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจแต่งฟ้องกลับมีอำนาจขึ้นมาตามกฎหมายมิฉะนั้นแล้วบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติได้ว่าผู้ไม่ได้รับอนุญาตเป็นทนายความไม่มีอำนาจแต่งฟ้องฯ ก็ปราศจากความหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสามได้บัญญัติไว้ว่า “ถ้าศาลเห็นว่าคำคู่ความที่ได้นำมายื่นดังกล่าวข้างต้นมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายบังคับไว้ ฯลฯ ก็ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับหรือคืนไปฯ ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อปรากฏว่าผู้เรียงคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตเป็นทนายความแล้ว ฟ้องโจทก์ก็ไม่เป็นฟ้อง ศาลจะรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินคดีต่อไปไม่ได้พิพากษากลับไม่รับคำคู่ความที่อ้างว่าเป็นฟ้องของโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องให้ถูกต้อง

Share