คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร้อยตำรวจเอก ส. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่ ต. ถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา จำเลยเรียกและรับเงินจำนวน 5,000 บาท จาก ต. และ น. เพื่อเป็นการตอบแทนที่จำเลยจะจูงใจร้อยตำรวจเอก ส. เจ้าพนักงานในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว โดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย เพื่อให้ร้อยตำรวจเอก ส. กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่ ต. โดยการช่วยเหลือในทางคดี เพื่อทำให้ ต. หลุดพ้นจากความผิด เป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาของจำเลยว่าจำเลยเจตนาเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยอ้างว่าจะจูงใจเจ้าพนักงานไม่ให้ดำเนินคดีแก่ ต. และปล่อยตัวให้หลุดพ้นจากคดีอาญา ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนการที่จำเลยไปติดต่อหรือจูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีใด หรือเจ้าพนักงานจะกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือ ต. ก็มิใช่องค์ประกอบแห่งความผิดอันต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 169/2543 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 จำคุก 2 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่เป็นการจูงใจร้อยตำรวจเอกสมยศ ไม่ได้บรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของร้อยตำรวจเอกสมยศและหากร้อยตำรวจเอกสมยศมีอำนาจหน้าที่แล้วจะสามารถกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือนายสันติ ฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ร้อยตำรวจเอกสมยศเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนในคดีที่นายสันติถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา จำเลยเรียกและรับเงินจำนวน 5,000 บาท จากนายสันติและนางนิตยา เพื่อเป็นการตอบแทนที่จำเลยจะจูงใจร้อยตำรวจเอกสมยศเจ้าพนักงานในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว โดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย เพื่อให้ร้อยตำรวจเอกสมยศกระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่นายสันติ โดยการช่วยเหลือในทางคดี เพื่อทำให้นายสันติหลุดพ้นจากความผิดในคดีดังกล่าว เป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาของจำเลยว่าจำเลยเจตนาเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยอ้างว่าจะจูงใจเจ้าพนักงานไม่ให้ดำเนินคดีแก่นายสันติ และปล่อยตัวให้หลุดพ้นจากคดีอาญา อันถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว ส่วนการที่จำเลยไปติดต่อหรือจูงใจเจ้าพนักงานด้วยวิธีใด หรือเจ้าพนักงานจะกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือนายสันติก็มิใช่องค์ประกอบแห่งความผิดอันต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า นางนิตยาเป็นผู้ที่ถูกจำเลยเรียกรับเงิน แต่ในทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยเรียกรับเงินจากนางนิตยานามสกุลของนางนิตยาแตกต่างกัน ถือว่าเป็นคนละคนกัน ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง ถือเป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญนั้น เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องผิดไปว่า นางนิตยาเป็นผู้ที่ถูกจำเลยเรียกรับเงิน โดยทางพิจารณาได้ความว่า นางนิตยาเป็นผู้ที่ถูกจำเลยเรียกรับเงินก็ตาม แต่ในการดำเนินกระบวนพิจารณาหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ก็ระบุชื่อนางนิตยามาตลอด มิได้ระบุชื่อนางนิตยาแต่อย่างใด กรณีจึงอาจเป็นได้ว่าโจทก์พิมพ์คำฟ้องผิดพลาด ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้เพราะไม่ได้สืบพยานระบุถึงนางนิตยากรณีมิใช่เป็นเรื่องทางพิจารณาได้ความแตกต่างในสาระสำคัญที่ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไปยังศาลชั้นต้น แต่เนื่องจากจำเลยมีทนายความแล้วจำเลยจึงไม่ได้ลงลายมือชื่อในคำคู่ความด้วยตนเอง จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยได้กระทำความผิดในคดีนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share