คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่ผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยเช่าจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท กับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างพร้อมค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้อง เป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง คดีที่เกี่ยวกับการบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงด้วย
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาตามยอมผูกพันเฉพาะจำเลยกับโจทก์ผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ผูกพันผู้ร้อง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ยอมออกจากที่ดินพิพาทพร้อมกับบริวาร แม้ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำพิพากษาตามยอมก็มีผลบังคับแก่ผู้ร้องด้วย โจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ความว่า จำเลยและบริวารยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 59600 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ของโจทก์ และยอมชำระค่าเช่ากับค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากต่อไปเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ให้แก่โจทก์ จำเลยและบริวารยอมออกไปจากที่ดินส่วนนี้ทันทีและจะไม่ตัดฟันต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินดังกล่าวหากจำเลยผิดนัดข้อใดข้อหนึ่งยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ต่อมาโจทก์ขอให้บังคับคดีแก่จำเลยเนื่องจากจำเลยตัดฟันต้นไม้ในที่ดินดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีแก่จำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นว่าผู้ร้องบริวารของจำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาท ขอให้มีคำสั่งจับกุมและกักขังผู้ร้อง ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า บ้านของผู้ร้องไม่ได้ปลูกบนที่ดินพิพาทแต่ปลูกอยู่บนที่ดินสาธารณะโดยได้รับความยินยอมจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีเดิมเป็นคดีโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยเช่าจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหาย 22,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าวคู่ความในคดีดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง เมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ในชั้นบังคับคดีอันเป็นสาขาของคดีเดิม จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคสอง เช่นกัน ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องและศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวตามอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ผู้ร้องไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องในประเด็นที่ว่า ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์คำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลบังคับแก่ผู้ร้องซึ่งมิใช่คู่ความในคดีนั้นเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยก่อน ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 และ 247 โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องเพียงว่า คำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นใช้บังคับแก่ผู้ร้องได้หรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม เมื่อจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมโดยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว คำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลบังคับแก่ผู้ร้องซึ่งมิใช่คู่ความในคดี เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยยอมออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมกับบริวารและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแม้ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย คำพิพากษาตามยอมก็ย่อมมีผลบังคับแก่ผู้ร้องด้วย โจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share