คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9862/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ปรากฏว่ายังไม่ครบกำหนดที่จะต้องปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลชั้นต้นจึงยังไม่ออกหมายบังคับคดีให้ตามคำขอของโจทก์ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 เพื่อขายทอดตลาดโดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ออกหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 278 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการเพิกถอนการยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเสีย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ได้ตามมาตรา 142 (5)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ และทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๘,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๖๖๘, ๔๖๘๘ และ ๔๖๘๙ ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก รวมเนื้อที่ ๓ โฉนด ๖,๐๐๐ ตารางวา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินราคาที่ดินตารางวาละ ๗๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินดังกล่าวใหม่และ งดการประกาศขายทอดตลาดไว้ก่อน โดยจำเลยที่ ๓ อ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินดังกล่าวต่ำกว่าราคาที่แท้จริงมาก เพราะเจ้าพนักงานที่ดินเคยประเมินราคาที่ดินดังกล่าวไว้ตารางวาละ ๒,๕๐๐ บาท เมื่อคิดตาม ราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินแล้วที่ดินทั้งสามแปลงจะมีราคารวม ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท หากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ ๓ ไปในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ย่อมทำให้จำเลยที่ ๓ เสียหายอย่างมาก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะประเมินราคาที่ดินใหม่และไม่มีเหตุให้งดการประกาศขายทอดตลาด ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินราคาที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่มีข้อผูกมัดผู้ที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี จึงยังไม่มีกรณีที่เป็นการโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง จำเลยที่ ๓ จึงไม่อาจยื่นคำร้อง คัดค้านการประเมินราคาที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ เพื่อขายทอดตลาดเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี แก่ทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ปรากฏว่ายังไม่ครบกำหนดที่จะต้องปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลชั้นต้นจึงยังไม่ออกหมายบังคับคดีให้ตามคำขอของโจทก์ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ เพื่อขายทอดตลาดโดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ออกหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗๘ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการเพิกถอน การยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ ของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเสีย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๓ จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็อำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ ๓ ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕) เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าการยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ ของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการเพิกถอน จึงไม่มีกรณีที่จำเลยที่ ๓ จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมี คำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์จำนองที่ยึดใหม่อีก ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยที่ ๓ มานั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share