คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2514

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 เมื่อได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 แล้ว ย่อมมีอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4)
โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลภายในกำหนดอายุความแล้วแต่ไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลภายในกำหนดอายุความ ต้องถือว่าคดีโจทก์เป็นอันขาดอายุความ จะนำเอาบทบัญญัติในทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีมาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 4 เดือนกันยายนพุทธศักราช 2512

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2501 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้ จำนวนเงิน 85,000 บาท ครั้นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชี ณ ธนาคารไทยพาณิชย์การจำกัด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการกับจำเลย โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ขึ้นเหตุเกิดที่ตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งว่าคดีของโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้อง ระหว่างการพิจารณาโจทก์ส่งหมายนัดและสำเนาฟ้องให้จำเลยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่ได้ ต้องแจ้งวันนัดโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์แทนการส่งหมาย และเมื่อศาลประทับฟ้องแล้วก็ส่งหมายเรียกให้จำเลยไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน ศาลชั้นต้นจึงประกาศให้จำเลยทราบทางหนังสือพิมพ์ โดยแจ้งกำหนดวันนัดชี้สองสถานให้จำเลยทราบ จำเลยคงไม่มาศาลตามกำหนด ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2505 แต่ก็ยังไม่ได้ตัวจำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2506 ให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ครั้นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2510 ตำรวจจับจำเลยได้และนำส่งศาลเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2510 ศาลชั้นต้นรับตัวจำเลยไว้แล้วดำเนินการพิจารณาต่อไป

จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า คดีโจทก์ขาดอายุความไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงอื่น พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน

โจทก์ฎีกาต่อมาว่าคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว คดีนี้มีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยได้ออกเช็คให้โจทก์จริงตามฟ้อง ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 โดยแจ้งว่าเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย โจทก์จึงได้ร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจและได้ยื่นฟ้องคดีนี้เองเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2505 แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแล้วก็ตาม แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ดี หรือในระหว่างพิจารณาคดีก็ดี โจทก์ไม่สามารถส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องรวมทั้งส่งหมายเรียกแก่จำเลยได้ เพราะไม่ทราบว่าจำเลยไปอยู่ที่ไหน โจทก์ให้ศาลประกาศให้จำเลยทราบทางหนังสือพิมพ์แทนการส่งหมาย แต่ก็คงไม่มีตัวจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2505 และสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2506 เพราะยังจับตัวจำเลยไม่ได้ ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2510 ตำรวจจึงจับจำเลยได้ และส่งตัวจำเลยมายังศาล เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2510 ซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาห้าปี นับแต่วันกระทำผิด คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 แล้ว ได้ความดังนี้ ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(4) โจทก์ฎีกาว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 หาได้ประสงค์ที่จะต้องให้ได้ตัวจำเลยมาศาลภายในกำหนดไม่ ถ้าประสงค์เช่นนั้นน่าจะบัญญัติไว้ให้ชัดแจ้งว่าเมื่อโจทก์ได้ฟ้องแล้วแต่มิได้ตัวมาภายในกำหนด เป็นอันขาดอายุความ โจทก์เห็นว่าต้องนำบทบัญญัติทางแพ่งมาอนุโลมใช้ ว่าเมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแล้วอายุความต้องสะดุดหยุดลง ศาลชั้นต้นออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2505 อายุความจึงควรเริ่มต้นนับใหม่ คดีโจทก์จะขาดอายุความเมื่อล่วงพ้นวันที่ 21 ธันวาคม 2510 แล้ว คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้น

ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เรื่องอายุความตามทางอาญานั้นได้มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า”ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำผิด เป็นอันขาดอายุความ

(1)………………. ฯลฯ

(2) ……………… ฯลฯ

(3) ……………… ฯลฯ

(4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี ฯลฯ” ฉะนั้น นอกจากโจทก์จะได้ยื่นฟ้องจำเลยไว้ภายในกำหนดอายุความแล้ว ยังต้องได้ตัวจำเลยมายังศาลภายในกำหนดอายุความอีกด้วย คดีโจทก์จึงจะไม่ขาดอายุความ คดีนี้เป็นคดีที่ฟ้องกล่าวหาขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 อันเป็นความผิดอันยอมความกันได้และมีอัตราระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี เมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้วคดีจึงมีอายุความห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) และเรื่องนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยภายในกำหนดอายุความเท่านั้น แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมาพิจารณาภายในกำหนดอายุความ คือระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 (คือวันกระทำผิด) ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2506 ปรากฏว่าตำรวจจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2510 และส่งตัวมายังศาลเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2510 คดีโจทก์จึงขาดอายุความดังที่ศาลล่างพิพากษาต้องกันมานั้นชอบแล้ว เมื่อประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ชัดแจ้งดังนี้ ที่โจทก์จะให้นำเอาเรื่องอายุความในทางแพ่งว่าคดีโจทก์ควรถือว่าอายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีหาได้ไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์เสีย

Share