คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9854/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นเครื่องมือที่ห้ามทำการประมงในน่านน้ำจืดโดยเด็ดขาด ทำการประมงโดยจุ่มลงไปทำอันตรายและจับปลากับสัตว์น้ำอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำบริเวณลำคลองปากหมาก หมู่ที่ 5 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20, 62 ทวิ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายชัดแจ้งว่าการกระทำความผิดของจำเลยอยู่ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การประมงฯ มาตรา 4 (5) “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหลเช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน… อันเป็นกรณีที่รวมถึงลำคลองด้วย ฟ้องโจทก์จึงชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่จำต้องบรรยายฟ้องโดยละเอียดดังที่จำเลยฎีกา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว มิได้เคลือบคลุมแต่อย่างใด
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นได้มี พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 แต่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยโทษตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วนโทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 141 ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มีเพียงโทษปรับ ไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้ คงลงโทษจำเลยได้เพียงโทษปรับอันเป็นโทษสถานเบากว่าโทษจำคุกเท่านั้น แต่ในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาพิจารณาลงโทษจำเลยนั้น พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 มีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 4, 20, 62 ทวิ, 69 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นกุ้งและปลาน้ำจืด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20, 62 ทวิ จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นกุ้งและปลาน้ำจืด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าสถานที่เกิดเหตุที่จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าโดยการจุ่มลงไปทำอันตรายและจับปลากับสัตว์น้ำอื่น ๆ ตามฟ้องโจทก์เป็นแม่น้ำ ลำคลอง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งไม่ใช่สถานที่ส่วนบุคคลหรือสถานที่ของเอกชนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 4 (5) ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นเครื่องมือที่ห้ามทำการประมงในน่านน้ำจืดโดยเด็ดขาด ทำการประมงโดยจุ่มลงไปทำอันตรายและจับปลากับสัตว์น้ำอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำบริเวณลำคลองปากหมาก หมู่ที่ 5 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20, 62 ทวิ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายชัดแจ้งว่าการกระทำความผิดของจำเลยอยู่ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการประมงฯ มาตรา 4 (5) “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน… อันเป็นกรณีที่รวมถึงลำคลองด้วย ฟ้องโจทก์จึงชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่จำต้องบรรยายฟ้องโดยละเอียดดังที่จำเลยฎีกา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว มิได้เคลือบคลุมแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นได้มีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 แต่พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วนโทษตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 141 ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มีเพียงโทษปรับ ไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 ที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้ คงลงโทษจำเลยได้เพียงโทษปรับอันเป็นโทษสถานเบากว่าโทษจำคุกเท่านั้น แต่ในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาพิจารณาลงโทษจำเลยนั้น พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 มีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20, 62 ทวิ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง, 87 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง, 141 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 ปรับ 10,000 บาท เพียงสถานเดียว ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share