แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดบัญญัติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากสถาบันการเงินประเภทอื่น ดังนี้ ทั้งโจทก์ บริษัท บ. และผู้ร้องจึงต่างมีสถานะเป็นสถาบันการเงินซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ทั้งสิ้น
การที่บริษัท บ. รับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรวมทั้งสิทธิเรียกร้องในคดีนี้มาจากโจทก์แล้วนำไปขายแก่ผู้ร้องต่อจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสินทรัพย์ที่รับซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินอันถือว่าเป็นการบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ของบริษัท บ. กับผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ของโจทก์มาจากบริษัท บ. ผู้ร้องก็ต้องนำสินทรัพย์ของโจทก์ที่รับซื้อหรือรับโอนมาดังกล่าวมาบริหารตามบทบัญญัติของ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ต่อไป กรณีมิใช่เป็นการโอนสินทรัพย์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยกันเองหรือโอนไปเพื่อให้ผู้ร้องบริหารสินทรัพย์แทนอันขัดต่อเจตนารมณ์ในการตรา พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 การโอนสินทรัพย์ระหว่างบริษัท บ. กับผู้ร้องจึงมีผลสมบูรณ์
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อสินทรัพย์ของโจทก์มาจากบริษัท บ. ผู้ร้องจึงเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องคดีนี้โดยชอบ แม้ผู้ร้องจะซื้อมาในราคาต่ำกว่ามูลหนี้เดิม แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าของสิทธิเต็มจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาเต็มจำนวนที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จำเลยยังคงค้างชำระหนี้กับโจทก์อยู่เท่าใดก็ต้องมีการชำระหนี้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบเพียงนั้น การซื้อสินทรัพย์ซึ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจของโจทก์ไม่ได้เป็นการค้ากำไรเกินควร
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายเฉพาะยกเว้นหลักกฎหมายเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากไม่มีบทบัญญัติในพระราชกำหนดทั้งสองที่จะยกมาปรับแก่คดี ก็ต้องบังคับไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่นำพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้บังคับในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งของพระราชกำหนดอีกฉบับหนึ่ง
เมื่อสินทรัพย์ที่โอนกันนี้เป็นสิทธิเรียกร้องซึ่งโจทก์นำมาฟ้องคดีนี้และศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว โจทก์และบริษัท บ. ต่างมีสถานะเป็นสถาบันการเงินตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวต่อมาจากบริษัท บ. กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ที่บัญญัติให้ผู้ร้องมีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์คดีนี้ได้ทุกประการ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2542 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 46,261,782.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 39,629,347.23 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งเป็นวันฟ้องแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยให้ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39, 76, 6339, 6340, 5092, 6459, 6995, 7041 และที่ดินตราจองเลขที่ 40 อำเภอแปลงยาว (บางคล้า) (พนมสารคาม) จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกชำระหนี้จนครบ ต่อมาจำเลยทั้งหกไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี
ระหว่างบังคับคดี บริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ยื่นคำร้องลงวันที่ 18 กันยายน 2551 ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 โดยขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ได้มีการยึดทรัพย์จำนองและขายทอดตลาดแต่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ครบจำนวน
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 4 เมษายน 2557 ว่า ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เป็นผู้รับโอนสินทรัพย์จากบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ตามข้อตกลงการขายและซื้อสินทรัพย์ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2556 ท้ายคำร้อง ทำให้ผู้ร้องได้มาซึ่งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งหก ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว
จำเลยทั้งหกยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องบังคับชำระหนี้จำเลยทั้งหกเพียง 39,629,347.23 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเวลาไม่เกินสามเดือนก่อนวันโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นเงิน 1,783,320.62 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้บริษัทบริหารสินทรัพย์อัลฟาแคปปิตอล จำกัด ผู้ร้อง เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ และให้มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2542
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งหกฎีกาข้อแรกว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด และผู้ร้องมิใช่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินจึงมิใช่สถาบันการเงินตามความหมายของพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.24/2552 การโอนสินทรัพย์ระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด กับผู้ร้อง เป็นการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยกันเอง ไม่ใช่การโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน จึงขัดต่อกฎหมายและเจตนารมณ์ในการตราพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 นอกจากนี้บริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด และผู้ร้องมีวัตถุประสงค์รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินเท่านั้น ไม่มีสิทธิขายหรือโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่รับซื้อหรือรับโอนมาได้ ส่วนที่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด และผู้ร้อง ข้อ 1 มีข้อความระบุว่า “เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป” หมายถึง เมื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ได้รับโอนสินทรัพย์มาจากโจทก์แล้ว บริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ไม่มีสิทธิขายและโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไปยังผู้ร้องเพื่อบริหารแทนได้ บริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ต้องบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยตนเองให้เสร็จสิ้นไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 นั้น เห็นว่า มาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้ให้นิยาม “สถาบันการเงิน” หมายความว่า (1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ (2) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และ (3) นิติบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ผู้ร้องอ้างส่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงิน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 มีใจความว่า เพื่อให้การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพสามารถกระทำได้คล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนตามพระราชกำหนดนี้เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ และมีการนำประกาศดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 นอกจากนี้ ผู้ร้องอ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.24/2552 เรื่อง การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ ประกาศดังกล่าวข้อ 5.1 ระบุว่า ในประกาศฉบับนี้ “สถาบันการเงิน” หมายความว่า (1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (2) บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์…” พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดบัญญัติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากสถาบันการเงินประเภทอื่น ดังนี้ ทั้งโจทก์ บริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด และผู้ร้องจึงต่างมีสถานะเป็นสถาบันการเงินซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ทั้งสิ้น และตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้ให้นิยาม “การบริหารสินทรัพย์” หมายความว่า (1) การรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน… เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป… และตามวัตถุประสงค์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด กับผู้ร้อง ต่างระบุวัตถุประสงค์ ข้อ 1 เหมือนกันว่า รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน…เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอน ดังนั้น การที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด รับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรวมทั้งสิทธิเรียกร้องในคดีนี้มาจากโจทก์แล้วนำไปขายแก่ผู้ร้องต่อจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสินทรัพย์ที่รับซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินอันถือว่าเป็นการบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด กับผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ของโจทก์มาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ผู้ร้องก็ต้องนำสินทรัพย์ของโจทก์ที่รับซื้อหรือรับโอนมาดังกล่าวมาบริหารตามบทบัญญัติของพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ต่อไป กรณีมิใช่เป็นการโอนสินทรัพย์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยกันเองหรือโอนไปเพื่อให้ผู้ร้องบริหารสินทรัพย์แทนอันขัดต่อเจตนารมณ์ในการตราพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ดังที่จำเลยทั้งหกฎีกาแต่อย่างใด การโอนสินทรัพย์ระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด กับผู้ร้องจึงมีผลสมบูรณ์ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ส่วนที่จำเลยทั้งหกฎีกาข้อต่อมาว่า เจตนารมณ์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ไม่ต้องการให้บริษัทบริหารสินทรัพย์บังคับชำระหนี้ด้อยคุณภาพจากลูกหนี้เต็มจำนวน พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 45 ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง บัญญัติว่า “มูลค่าของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามบัญชีให้ถือเอาจำนวนหนี้เงินต้นค้างชำระ ณ วันโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมกับดอกเบี้ยค้างชำระเป็นระยะเวลาไม่เกินสามเดือนก่อนวันโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ…” ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิบังคับจำเลยทั้งหกชำระหนี้ได้เพียงจำนวน 39,629,347.23 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเวลาไม่เกินสามเดือนก่อนวันโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นเงิน 1,783,320.62 บาท รวมเป็นเงิน 41,412,667.85 บาท เท่านั้น ทั้งผู้ร้องซื้อสินทรัพย์ของจำเลยทั้งหกโดยใช้เงินทุนเพียง 10,469,374.69 บาท แต่ผู้ร้องกลับใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้เต็มจำนวน โดยผู้ร้องอ้างว่าค้างชำระเงินต้น 39,629,347.23 บาท ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 จำนวน 109,938,000.46 บาท รวมเป็นเงิน 149,567,347.69 บาท ได้กำไรมากถึง 14 เท่า เป็นการเอารัดเอาเปรียบจำเลยทั้งหกและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อสินทรัพย์ของโจทก์มาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ผู้ร้องจึงเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องคดีนี้โดยชอบ แม้ผู้ร้องจะซื้อมาในราคาต่ำกว่ามูลหนี้เดิม แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าของสิทธิเต็มจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้ตามคำพิพากษาเต็มจำนวนที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จำเลยทั้งหกยังคงค้างชำระหนี้กับโจทก์อยู่เท่าใดก็ต้องมีการชำระหนี้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบเพียงนั้น การซื้อสินทรัพย์ซึ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจของโจทก์หาได้เป็นการค้ากำไรเกินควรไม่ ทั้งตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ก็ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดบัญญัติให้บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้รับชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนดังที่จำเลยทั้งหกอ้าง นอกจากนี้ กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายเฉพาะยกเว้นหลักกฎหมายเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากไม่มีบทบัญญัติในพระราชกำหนดทั้งสองที่จะยกมาปรับแก่คดี ก็ต้องบังคับไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่นำพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้บังคับในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งของพระราชกำหนดอีกฉบับหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินทรัพย์ที่โอนกันนี้เป็นสิทธิเรียกร้องซึ่งโจทก์นำมาฟ้องคดีนี้และศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว โจทก์และบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ต่างมีสถานะเป็นสถาบันการเงินตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวต่อมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ที่บัญญัติให้ผู้ร้องมีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์คดีนี้ได้ทุกประการ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์อันเป็นการให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งหกทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้องเสียด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาให้เป็นพับ