แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำแจ้งความที่มีถ้อยคำที่แจ้งปรากฏชัดว่าโจทก์มาขอแจ้งความกล่าวหาว่า จำเลยร่วมกันออกเช็คไม่มีเงินให้ผู้แจ้ง ผู้แจ้งยังไม่ประสงค์ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวจำเลยมาดำเนินคดี เพียงแต่มาแจ้งให้ทราบไว้เป็นหลักฐาน มิให้เช็คขาดอายุความไปเท่านั้น ข้อความตามที่โจทก์แจ้งไม่ใช่คำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกง
โจทก์รู้ว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2507แล้วไปแจ้งความร้องทุกข์ เรื่องจำเลยออกเช็คไม่มีเงินให้โจทก์ที่สถานีตำรวจเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2507 แล้วโจทก์มาฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2511 เช่นนี้ ถือว่าคดีขาดอายุความ เพราะไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 โดยกล่าวหาว่าจำเลยหลอกลวงแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งด้วยการนำเอาเช็คซึ่งกรอกข้อความเท็จลงในเช็คครบถ้วนไปแสดงและใช้ต่อโจทก์ในกิจการกู้ยืมเงินทำให้โจทก์หลงเชื่อจนจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์สมความมุ่งหมาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงไว้ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้การกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องคดีเมื่อเกิน 3 เดือนแล้ว คดีจึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ได้มีการร้องทุกข์แล้ว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความการกระทำของจำเลยเป็นผิดตามโจทก์ฟ้อง พิพากษากลับจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามรายงานเบ็ดเสร็จประจำวัน ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2507 โจทก์ได้ไปแจ้งที่สถานีตำรวจว่า เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2506นายก๊กกี่ แซ่หลอ และนายเจริญ นิพัฒน์สมบัติ (จำเลย) ได้ร่วมกันมายืมเงินผู้แจ้งไปเป็นจำนวน 6,500 บาท และให้ค่าป่วยการอีกเป็นเงิน 500 บาท รวมเงิน 7,000 บาท และทั้งสองคนได้ร่วมกันนำเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาภูเก็ต หมายเลขเช็ค เอ็น.330460 เซ็นสั่งจ่ายเงินสดจำนวน 7,000 บาท ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2507 โดยคนทั้งสองร่วมกันเซ็นชื่อสั่งจ่ายมอบให้ผู้แจ้งไว้เป็นการชำระหนี้ที่ยืมไปในวันนั้นเอง ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2507 ผู้แจ้งได้ให้นายกรีฑา จิตต์ต่างวงศ์ เอาเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ปรากฏว่าทางธนาคารปฏิเสธ อ้างว่าผู้สั่งจ่ายไม่มีบัญชี ผู้แจ้งได้ไปติดต่อกับนายเจริญ และนายก๊กกี่อีกหลายครั้งจนกระทั่งนายก๊กกี่ตายไป นายเจริญและนายก๊กกี่ไม่ยินยอมให้เงินผู้แจ้ง ผู้แจ้งจึงมาขอแจ้งความกล่าวหาว่านายเจริญฯ ร่วมกันออกเช็คไม่มีเงินให้ผู้แจ้ง แต่ขณะนี้นายก๊กกี่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วและผู้แจ้งยังไม่ประสงค์ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวนายเจริญมาดำเนินคดี เพียงแต่มาแจ้งให้ทราบไว้เป็นหลักฐานและมิให้เช็คขาดอายุความไป
ตามคำเบิกความของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2507 และโจทก์ได้ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจตรี พ.กนิษฐกุล ที่สถานีตำรวจ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2507 เรื่องเช็คไม่มีเงิน เพื่อเป็นหลักฐานมิให้เช็คขาดอายุความเท่านั้น ไม่ได้แจ้งหรือร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงไว้ด้วย คดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2507 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2511 ซึ่งเกิน 3 เดือนแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการแจ้งความตามรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันลงวันที่ 20 ตุลาคม 2507 ถือได้ว่าเป็นการร้องทุกข์นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว ถ้อยคำที่แจ้งปรากฏชัดว่า โจทก์มาขอแจ้งความกล่าวหาว่านายเจริญ (จำเลย) ร่วมกันออกเช็คไม่มีเงินให้ผู้แจ้ง ผู้แจ้งยังไม่ประสงค์ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวนายเจริญมาดำเนินคดี เพียงแต่มาแจ้งให้ทราบไว้เป็นหลักฐานมิให้เช็คขาดอายุความไปเท่านั้น ข้อความตามที่โจทก์แจ้งไม่ใช่คำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) ยิ่งกว่านั้น โจทก์ยังเบิกความตอนตอบคำถามของทนายจำเลยว่า “ข้าจะแจ้งความเรื่องฉ้อโกงหรือเปล่าไม่ทราบ” ส่อแสดงว่าโจทก์มิได้ร้องทุกข์ในข้อหาฐานฉ้อโกงด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น