คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงานธนาคาร ออมสิน กับจำเลย (ปี พ.ศ. 2524) ข้อ 15 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าธนาคารฯ ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการ ฉบับที่ 123 ว่าด้วยวินัยของพนักงานฯ และระเบียบการ ฉบับที่ 122 ว่าด้วยการพักงานและเงินเดือนของผู้ถูกสั่งพักงานในส่วนที่ขัดแย้งหรือมิได้กำหนดไว้ในระเบียบการฯ ดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อ 15.1 ข้อ 15.2 และ ข้อ 15.3 หมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 15.3 ดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ซึ่งจำเลยถือเป็นหลักเกณฑ์ในการลงโทษโจทก์ การวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิกลับเข้าทำงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524)ข้อ 15.3 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาพร้อมกันไปกับระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ข้อ 20 อันเป็นหลักปฏิบัติเฉพาะในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าถ้าพนักงานที่ถูกดำเนินคดีอาญาหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างพิจารณาหรือสอบสวนจะเกิดความเสียหาย ก็ให้ผู้อำนวยการของจำเลยมีอำนาจสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน แล้วจึงจะมีคำสั่งในภายหลัง ถ้าศาลพิพากษาว่ามีความผิดคดีถึงที่สุด หรือการสอบสวนพิจารณาได้ว่ากระทำผิดที่จะต้องลงโทษหรือไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก ก็ให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งตามระเบียบการนั้น ถ้าปรากฏว่าไม่มีมลทินมัวหมองจึงจะสั่งรับกลับเข้าทำงาน ดังนั้น คำสั่งที่อาจจะเปลี่ยนแปลงรับพนักงานที่ถูกสอบสวนเพราะกระทำผิดวินัยกลับเข้าทำงาน จะต้องอยู่ในระหว่างที่พนักงานผู้นั้นถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนซึ่งเป็นการสั่งให้ออกจากงานชั่วคราว เมื่อคดีนี้ได้ความจากการสอบสวนว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และจำเลยได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ให้ออกจากงานไว้ก่อนเป็นไล่ออกจากงาน ซึ่งเป็นคำสั่งขั้นตอนสุดท้ายในการลงโทษโจทก์ทางวินัยเสร็จไปแล้ว แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ในคดีอาญาก็ไม่ใช้อยู่ในระหว่างสั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนตามเงื่อนไขในระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ข้อ 20ทั้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวก็ไม่ลบล้างความผิดวินัยของโจทก์ที่จำเลยได้สั่งลงโทษไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524) มาบังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนให้แก่โจทก์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและจ่ายเงินเดือนในระหว่างเลิกจ้างหากไม่ยอมรับกลับให้จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ไล่โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์ประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรง เลิกจ้างเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524) ข้อ 15.3 เมื่อปรากฏว่าพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ จำเลยจะต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม และจ่ายเงินเดือนในระหว่างไม่ได้ทำงานให้แก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาได้ความว่า โจทก์กับพวกถูกสำนักงาน ป.ป.ป.แจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157ตามเอกสารหมาย จ.3 ผลที่สุดพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ขณะที่โจทก์ถูกกล่าวหานั้นจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนโจทก์ ต่อมามีคำสั่งที่ พ.3-11/2530 สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนตั้งแต่วันที่25 กันยายน 2530 เป็นต้นไป เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2532 จำเลยมีคำสั่งที่ พ.4-10/2532 สั่งลงโทษไล่โจทก์กับพวกออกจากตำแหน่งเนื่องจากการกระทำผิดวินัยตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123ข้อ 5, 7, 9 วรรคแรกและวรรคสอง ข้อ 10, 15, 17.3 และ 17.7โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการธนาคารออมสิน คณะกรรมการธนาคารออมสินมีมติยืนตาม (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1) ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524) เป็นการเพิ่มเติมระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 123 จึงต้องพิจารณาพร้อมกันไปตามข้อตกลงและระเบียบการดังกล่าวได้แยกออกเป็นสองกรณีคือ กรณีถูกฟ้องหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญากับกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อผลการสอบสวนปรากฏว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524) ข้อ 15.3 เป็นข้อตกลงที่ได้วางระเบียบขึ้นใหม่โดยแจ้งชัดและเป็นเอกเทศของข้อตกลง ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 123 เป็นข้อตกลงที่บัญญัติขึ้นภายหลังจากข้อเรียกร้องและเป็นคุณแก่ลูกจ้างไม่มีการแยกการให้ออกของพนักงานเป็นสองกรณีอย่างระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123ถ้าพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยก็ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524) ข้อ 15.3เห็นว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524) ข้อ 15วรรคหนึ่งกำหนดไว้ว่า ธนาคารฯ ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการฉบับที่ 123 ว่าด้วยวินัยของพนักงานฯ และระเบียบการฉบับที่ 122ว่าด้วยการพักงานและเงินเดือนของผู้ถูกสั่งพักงาน ในส่วนที่ขัดแย้งหรือมิได้กำหนดไว้ในระเบียบการฯ ดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อ 15.1 15.2 และ 15.3 ดังนั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง(ปี พ.ศ. 2524) ข้อ 15.3 จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ซึ่งจำเลยถือเป็นหลักเกณฑ์ในการลงโทษโจทก์ การวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิกลับเข้าทำงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524)ข้อ 15.3 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาพร้อมกันไปกับระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 หาใช่วินิจฉัยเฉพาะแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524) ตามที่โจทก์กล่าวอ้างไม่เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้วตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ได้กำหนดเรื่องเกี่ยวกับการกลับเข้าทำงานของพนักงานที่ถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไว้ในข้อ 20 ดังนี้
“ข้อ 20 พนักงานผู้ใดถูกฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่กำหนดโทษชั้นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือมีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถึงถูกตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าจะให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างพิจารณาหรือสอบสวนจะเป็นการเสียหาย ผู้อำนวยการจะสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนก็ได้ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการทราบ เมื่อภายหลังปรากฏว่า ศาลพิพากษาว่ามีความผิดคดีถึงที่สุด หรือการสอบสวนพิจารณาได้ความว่ากระทำผิดที่จะต้องลงโทษไล่ออก ปลดออกหรือให้ออก ก็ให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งตรงตามระเบียบการนี้ แต่ถ้าปรากฏว่า ไม่มีมลทินหรือมัวหมองให้ผู้อำนวยการสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติงาน ในการที่สั่งให้กลับเข้าปฏิบัติงาน กรณีที่เกี่ยวกับเงินเดือน ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน เสมือนว่าผู้นั้นถูกสั่งให้พักงาน”
ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524) ข้อ 15.3เป็นข้อแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบข้อ 20 ดังกล่าวในรายละเอียดเกี่ยวกับการกลับเข้าปฏิบัติงานของพนักงานว่าต้องให้ทำงานตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม จะเห็นได้ว่า ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123ข้อ 20 เป็นหลักปฏิบัติเฉพาะในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าถ้าพนักงานที่ถูกดำเนินคดีอาญาหรือกระทำผิดวินัยร้ายแรงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างพิจารณาหรือสอบสวนจะเกิดความเสียหายก็ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน แล้วจึงจะมีคำสั่งในภายหลังถ้าศาลพิพากษาว่ามีความผิดคดีถึงที่สุด หรือการสอบสวนพิจารณาได้ว่ากระทำผิดที่จะต้องลงโทษหรือไล่ออก ปลดออกหรือให้ออก ก็ให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งตามระเบียบการนั้น ถ้าปรากฏว่าไม่มีมลทินมัวหมองจึงจะสั่งรับกลับเข้าทำงาน ดังนั้น คำสั่งที่อาจจะเปลี่ยนแปลงรับพนักงานที่ถูกสอบสวนเพราะกระทำผิดวินัยกลับเข้าทำงานนั้นจะต้องอยู่ในระหว่างที่พนักงานผู้นั้นถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนซึ่งเป็นการสั่งให้ออกจากงานชั่วคราว แต่คดีนี้ฟังได้ว่า เดิมจำเลยได้มีคำสั่งที่ พ.3-11/2530 สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2530 เป็นต้นไป ต่อมาภายหลังการสอบสวนจำเลยได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตามคำสั่งที่ พ.4-10/2532 สั่งณ วันที่ 24 เมษายน 2532 คำสั่งดังกล่าวของจำเลยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ข้อ 20 คือ เมื่อสอบสวนแล้วได้ความว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจำเลยก็ได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งจากให้ “ออกจากงานไว้ก่อน” เป็น “ไล่ออกจากงาน”อันเป็นคำสั่งขั้นตอนสุดท้ายที่ให้การลงโทษโจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้วหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2532 พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์จึงมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ไปยังหัวหน้าพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ดังนั้น แม้พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ในคดีอาญาแต่ได้สั่งภายหลังที่จำเลยได้มีคำสั่งลงโทษโจทก์ทางวินัยไปแล้ว มิใช่อยู่ในระหว่างสั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนตามเงื่อนไขในระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ข้อ 20 โจทก์จึงไม่มีสิทธิอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. 2524)มาบังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการก็ไม่ลบล้างความผิดวินัยที่จำเลยได้สั่งลงโทษไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิกลับเข้าทำงานและไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนตามฟ้อง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share