คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 560 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องการบอกเลิกสัญญาเช่ากันไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อสัญญาเช่าระบุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีในกรณีโจทก์กระทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดและโจทก์กระทำผิดสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๓ ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ เพราะไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือ จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ ๓ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงิน ๒๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าอาคารจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยโจทก์ต้องชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๑,๕๐๐ บาท ทุกวันที่ ๑ ของทุกเดือน เมื่อโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาเช่าดังกล่าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๓๙ และตามหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวระบุให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีในกรณีโจทก์กระทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๖๐ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องนี้กันไว้เป็นอย่างอื่น
พิพากษายืน.

Share