คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9835/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างจะกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันสิ้นเดือนของทุกเดือนก็ตาม แต่การที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เป็นประจำตลอดมา ย่อมถือได้ว่านายจ้างตกลงกับลูกจ้างให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดการจ่ายค่าจ้างจากวันสิ้นเดือนเป็นวันก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน โดยปริยาย ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
วันที่ครบกำหนดจ่ายสินจ้างตามกฎหมายของจำเลยในเดือนมิถุนายน 2541 คือวันที่ 29 มิถุนายน 2541 หากจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จำเลยจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์อย่างช้าที่สุดต้องภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จึงจะเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง
คณะกรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลของจำเลยซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครประชุมแล้วมีมติให้เลิกจ้างพนักงานในโรงงานน้ำตาล รวมทั้งพนักงานในโรงงานน้ำตาลลำปางคือโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 58 การที่จำเลยได้ส่งประกาศเลิกจ้างพนักงานโรงงานน้ำตาลของจำเลยกับหนังสือคำสั่งให้ทางโรงงานน้ำตาลลำปางทำหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างพนักงานโรงงานน้ำตาลลำปางเป็นรายบุคคลทางโทรสารไปยังโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลลำปางในเวลาบ่ายของวันประชุมดังกล่าวเพื่อแจ้งให้พนักงานโรงงานน้ำตาลลำปางทราบ การกระทำเช่นนี้มิใช่เป็นการที่จำเลยส่งโทรสารบอกกล่าวเลิกจ้างไปถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 โดยตรงเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 การบอกกล่าวเลิกจ้างในลักษณะนี้เป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าอันจะมีผลต่อเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 ได้ทราบการแสดงเจตนาบอกเลิกจ้างแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้สั่งหรือปิดประกาศหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างพนักงานเป็นรายบุคคลให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 รับทราบ และมีการปิดประกาศสำเนาประกาศเลิกจ้างไว้ที่หน้าโรงงานก่อนเลิกงานเพียง 5 นาที โดยไม่ได้ความว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 ในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 30 วัน ให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 แต่สำหรับโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลลำปางของจำเลยและหลังจากโจทก์ที่ 1 ได้รับทราบหนังสือประกาศเลิกจ้างตามเอกสารซึ่งจำเลยได้ส่งทางโทรสารถึงโจทก์ที่ 1 โดยตรงแล้ว โจทก์ที่ 1 ก็ได้สั่งให้นำเอกสารดังกล่าวไปปิดประกาศ ถือได้ว่าการแสดงเจตนาบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยไปถึงโจทก์ที่ 1 ก่อนเลิกงานในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จึงมีผลให้เป็นการเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปในวันที่ 29 กรกฎาคม 2541

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสิบแปดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 58
โจทก์ทั้งห้าสิบแปดสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งห้าสิบแปดตามที่ระบุในคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน
จำเลยทั้งห้าสิบแปดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยส่งประกาศแสดงเจตนาบอกเลิกจ้างไปยังลูกจ้างรวมทั้งหมดซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง ย่อมมีผลนับแต่ไปถึงและได้ปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบก่อนเลิกงานแล้ว ถือได้ว่าจำเลยบอกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2541 จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง 1 เดือน การบอกเลิกจ้างชอบแล้ว โจทก์ทั้งหมดไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าสิบแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน แต่ในทางปฏิบัติจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เป็นประจำตลอดมา แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันสิ้นเดือนของทุกเดือนก็ตาม แต่การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เป็นประจำตลอดเวลา ย่อมถือได้ว่าจำเลยตกลงกับลูกจ้างให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดการจ่ายค่าจ้างจากวันสิ้นเดือนเป็นวันก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน โดยปริยาย ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
วันที่ครบกำหนดจ่ายสินจ้างตามกฎหมายของจำเลยในเดือนมิถุนายน 2541 คือวันที่ 29 มิถุนายน 2541 ซึ่งหากจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบแปดโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จำเลยจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้าสิบแปดอย่างช้าที่สุดต้องภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จึงจะเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง
ในการบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบแปดนั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 คณะกรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลของจำเลยซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครประชุมและมีมติให้เลิกจ้างพนักงานในโรงงานน้ำตาลรวมทั้งโรงงานน้ำตาลลำปาง คือโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 58 ด้วย ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป ซึ่งการที่จำเลยส่งประกาศเลิกจ้างพนักงานและหนังสือคำสั่งให้ทางโรงงานน้ำตาลลำปางทำหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างพนักงานเป็นรายบุคคลไปยังโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลลำปางทางโทรสารเพื่อแจ้งให้พนักงานโรงงานน้ำตาลลำปางทราบ มิใช่เป็นการที่จำเลยส่งโทรสารบอกกล่าวเลิกจ้างไปถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 โดยตรงเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 การบอกกล่าวเลิกจ้างในลักษณะนี้เป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าอันจะมีผลต่อเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 ได้ทราบการแสดงเจตนาบอกเลิกจ้างแล้ว และแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้สั่งให้ปิดประกาศสำเนาประกาศเลิกจ้างไว้ที่หน้าโรงงาน ก็เป็นการปิดประกาศในระยะเวลาก่อนเลิกงานเพียง 5 นาที โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 ได้รับทราบการบอกเลิกจ้างแล้วก่อนการเลิกงานในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 ทั้งในวันนั้นก็ไม่ปรากฏว่าทางจำเลยได้ส่งหรือปิดประกาศหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างพนักงานเป็นรายบุคคลให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 รับทราบแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 ในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 30 วัน ตามฟ้องให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 ส่วนกรณีของโจทก์ที่ 1 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลลำปางของจำเลย และหลังจากโจทก์ที่ 1 ได้รับทราบหนังสือประกาศเลิกจ้างซึ่งจำเลยได้ส่งทางโทรสารถึงโจทก์ที่ 1 โดยตรงแล้ว โจทก์ที่ 1 ก็ได้สั่งให้นำเอกสารดังกล่าวไปปิดประกาศ ฟังได้ว่าการแสดงเจตนาบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยไปถึงโจทก์ที่ 1 แล้วตั้งแต่ก่อนเลิกงานในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 การเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 มีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปในวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 38,340 บาท 35,960 บาท 14,240 บาท 13,440 บาท 33,810 บาท 31,740 บาท 24,520 บาท 16,950 บาท 16,950 บาท 24,520 บาท 26,140 บาท 33,810 บาท 24,520 บาท 21,620 บาท 19,110 บาท 26,140 บาท 21,620 บาท 16,950 บาท 15,990 บาท 15,090 บาท 15,090 บาท 33,810 บาท 29,750 บาท 19,110 บาท 19,110 บาท 16,950 บาท 13,440 บาท 17,990 บาท 15,990 บาท 31,740 บาท 21,620 บาท 15,090 บาท 27,880 บาท 16,950 บาท 15,090 บาท 13,440 บาท 6,440 บาท 5,760 บาท 6,440 บาท 9,600 บาท 13,440 บาท 10,150 บาท 6,090 บาท 8,100 บาท 9,080 บาท 9,080 บาท 8,100 บาท 8,100 บาท 5,760 บาท 9,080 บาท 8,100 บาท 9,080 บาท 9,080 บาท 19,110 บาท 16,950 บาท 7,210 บาท และ 38,340 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 58 ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share