คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2669/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารที่ต้องแนบมาท้ายคำฟ้องตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 7 ก็เพื่อจะให้จำเลยได้รู้ว่ามีเอกสารใดที่เกี่ยวข้องตามคำฟ้องบ้างในเบื้องต้น อันจะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยความสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น แม้เอกสารดังกล่าวเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องที่มีการบรรยายฟ้องโดยชอบแล้วกลายเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่ในชั้นพิจารณาจะต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 46
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ด้วยเงินตราต่างประเทศคือเงินดอลลาร์สหรัฐ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษากำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ นอกจากจะไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสองแล้ว ยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์โดยกำหนดการคิดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นนอกเหนือจากที่ปรากฎในคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
(วรรคสอง ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2544)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนเป็นเงินคนละ 3,558,605.60 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 2,541,861.13 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 4 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 5,083,722.26 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 5 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 4,079,848.38 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้โจทก์ที่ 6 และให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 7 จำนวน 2,042,661.07 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้โจทก์ที่ 7
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ที่ 7 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 คนละจำนวน 3,558,384.16 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 2,541,702.96 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 5,082,059.83 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินแก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 4,078,517.31 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการ ในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เนื่องจากโจทก์ 5 รายนี้ได้โอนหนี้ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้แก่บุคคลภายนอก และแจ้งการโอนแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอนุญาต คดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 กับจำเลยจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 4 เท่านั้น
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า ตามคำฟ้องมีเอกสารที่แนบท้ายคำฟ้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ แต่โจทก์จัดทำคำแปลไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยเฉพาะสัญญาการให้สินเชื่อที่เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้คดีนี้ จึงทำให้จำเลยไม่อาจตรวจสอบและโต้แย้งไว้ในคำให้การได้ถูกต้อง และการที่จะให้โจทก์ที่ 4 ส่งคำแปลที่สมบูรณ์ภายหลังจากครบกำหนดเวลาที่จำเลยต้องยื่นคำให้การแล้ว ก็ทำให้จำเลยไม่สามารถให้การโต้แย้งข้อสัญญาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุมเพราะทำให้จำเลยไม่เข้าใจสภาพแห่งข้อหา เสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 บัญญัติให้การดำเนินกระบวนพิจาราณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดของอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานที่ออกข้อกำหนดไว้ตามมาตรา 30 หากไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม และตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 กำหนดว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่เข้าใจคำฟ้องในส่วนใด ศาลอาจสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยอธิบายรายละเอียดในส่วนนั้นให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ และจำเลยมีสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในส่วนคำฟ้องที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการบรรยายฟ้องเป็นสำคัญ เมื่อคำฟ้องในคดีนี้ บรรยายถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ 4 กับจำเลยตามสัญญาการให้สินเชื่อ การปฏิบัติผิดสัญญาในแต่ละข้ออย่างไรบ้าง ตลอดถึงความรับผิดของจำเลยที่มีต่อโจทก์ และคำขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 4 ไว้โดยละเอียดแล้ว ย่อมเป็นที่พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการกล่าวหา และที่ขอบังคับจำเลยตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 แล้ว จึงถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเอกสารที่แนบท้ายคำฟ้องตามที่จำเลยอุทธรณ์เป็นเพียงพยานหลักฐานที่โจทก์จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาตามประเด็นในคำฟ้อง ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งเพียงแต่มีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 7 กำหนดไว้ว่า “หากคำฟ้องหรือคำให้การอ้างถึงเอกสารใดที่คู่ความประสงค์จะนำมาเป็นพยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี และเอกสารนั้นอยู่ในครอบครองของผู้อ้าง ให้แนบเอกสารดังกล่าวมาพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การด้วย…”ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ให้คู่ความแต่ละฝ่ายได้รู้ว่ามีเอกสารใดที่เกี่ยวข้องตามคำฟ้องและคำให้การบ้างในเบื้องต้น อันจะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยความสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น แต่ในชั้นพิจารณาเอกสารดังกล่าวจะต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 เว้นแต่จะเป็นไปตามข้อ 23 แห่งข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าเอกสารแนบท้ายฟ้องเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งโจทก์สามารถทำคำแปลเสนอภายหลังในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายนั้น ชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษานั้น เนื่องจากในการชำระหนี้ซึ่งกำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196กำหนดให้ใช้เงินเป็นเงินของประเทศไทยได้ โดยการเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางส่วนนี้จึงเกินคำขอ ซึ่งหากต่อมาค่าเงินบาทแข็งขึ้นกว่าในวันที่มีคำพิพากษาก็จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องจ่ายเงินเกินกว่าหนี้ที่มีอยู่จริง ปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคแรกที่บัญญัติว่า “ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้” นั้น เป็นการให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่กำหนดกันไว้เป็นเงินตราต่างประเทศด้วยเงินไทยก็ได้ และเพื่อที่จะไม่ให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องได้เปรียบเสียเปรียบกันในอัตราแลกเปลี่ยนเงินในกรณีที่จะชำระเป็นเงินไทย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง จึงบัญญัติว่า “การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน” ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ที่ 4 ได้ขอให้จำเลยชำระหนี้ด้วยเงินตราต่างประเทศ คือเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษากำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์นั้น นอกจากจะไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอบังคับของโจทก์ โดยกำหนดการคิดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนที่จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น ไม่บังคับให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการ ในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share