แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยของจำนวนเงิน ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้ กรณีจึงไม่ใช่ ไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้จ่ายดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าชดเชยร้อยละ 15 ต่อปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 35,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 840,000 บาท และค่าชดเชยจำนวน 105,000 บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 92,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับมามีเพียงว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าชดเชยร้อยละ 15 ต่อปี ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี” เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ไว้โดยเฉพาะแล้วเช่นนี้ จึงจะนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้ กรณีไม่ใช่ไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้จ่ายดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าชดเชยร้อยละ 15 ต่อปี ได้ดังที่จำเลยอ้าง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าชดเชยร้อยละ 15 ต่อปี ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธิพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.