คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมที่ทำขึ้นพร้อมกันหลายฉบับ และมีข้อความเหมือนกันทุกฉบับนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นต้นฉบับพินัยกรรมทั้งหมด ผู้มีสิทธิได้ทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้น จะอ้างสิทธิในพินัยกรรมฉบับใดขึ้นขอรับมรดกก็ได้
พินัยกรรมที่มีขีดฆ่าตกเติมหลายแห่ง ไม่มีพยานลงชื่อรับรองลายมือให้ถูกต้องทุกแห่งนั้น จะเสียก็เสียเฉพาะการขีดฆ่าตกเติมที่ทำไม่ถูกต้องเท่านั้น ไม่เสียหมดทั้งฉบับ

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าพินัยกรรมของบิดา ที่ทำยกทรัพย์ให้จำเลยนั้นไม่สมบูรณ์ จำเลยไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรม

จำเลยต่อสู้ว่า พินัยกรรมสมบูรณ์

ศาลชั้นต้นเห็นว่า พินัยกรรมของนายตุ่นทำขึ้น 7 ฉบับ มีข้อความต้องกัน จึงต้องฟังว่าเป็นต้นฉบับทั้ง 7 ฉบับ การที่ฉบับที่จำเลยรักษาอยู่ได้ถูกทำลายแต่ฉบับเดียว การเพิกถอนจึงไม่สมบูรณ์ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1695 วรรคสองโจทก์ได้ส่งต้นฉบับพินัยกรรมต่อศาล 5 ฉบับ โดยยังไม่มีการทำลายหรือขีดฆ่า จำเลยมีสิทธิอ้างขอรับมรดกนายตุ่นตามพินัยกรรมที่ยังเหลืออยู่ได้ โจทก์ว่าพินัยกรรมไม่สมบูรณ์ทั้งฉบับ เพราะมีการขีดฆ่าตกเติม 3 แห่ง มีลายมือชื่อนายตุ่นรับรองแห่งเดียวแต่ก็ไม่มีพยานรับรองลายมือชื่อนายตุ่น ศาลชั้นต้นเห็นว่าหากจะเสียก็เสียเฉพาะที่ขีดฆ่าตกเติมไม่ใช่เสียทั้งฉบับ จึงพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมของนายตุ่นทุกฉบับมีข้อความเหมือนกันและทำพร้อมกัน จึงเป็นต้นฉบับพินัยกรรมทั้งหมด จำเลยจะอ้างสิทธิในพินัยกรรมของนายตุ่นฉบับใดขึ้นขอรับมรดกก็ได้ ในพินัยกรรมมีขีดฆ่าตกเติม 3 แห่ง ไม่มีพยานลงชื่อรับรองลายมือให้ถูกต้องทุกแห่งจะเสียก็เสียเฉพาะการที่ขีดฆ่าตกเติมที่ทำไม่ถูกต้องเท่านั้นไม่เสียหมดทั้งฉบับ

จึงพิพากษายืน

Share