แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นให้การรับสารภาพ คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยทั้งหมดร่วมกันกระทำผิดดังโจทก์ฟ้องโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษ อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยอื่นให้มาร่วมกระทำความผิดด้วยเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่บรรยายฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1โดยไม่รอการลงโทษ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังเป็นยุติมาแล้ว เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบแม้คู่ความจะมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2532 เวลากลางวันจำเลยทั้งสิบเจ็ดคนกับพวกอีก 1 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าก่นสร้าง แผ้วถางป่า อันเป็นการทำลายป่า เพื่อยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนหรือผู้อื่น คิดเป็นเนื้อที่ป่าที่ถูกแผ้วถางจำนวน 35 ไร่ โดยจำเลยทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเจ็ดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรี, 74 ทวิพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 22 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ริบของกลาง และสั่งให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากป่านั้น จำเลยทั้งสิบเจ็ดคนให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบเจ็ดคนมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรี, (ที่ถูกเป็นมาตรา72 ตรี วรรคสอง), 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518มาตรา 22 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 7ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 14ที่ 15 และที่ 17 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ12,000 บาท จำเลยนอกนั้นจำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 24,000 บาทจำเลยทั้งสิบเจ็ดคนให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง ลงโทษจำเลยที่ 4 ที่ 5ที่ 6 ที่ 7 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 17 จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ6,000 บาท จำเลยนอกนั้นจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 12,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนดคนละ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ของกลางริบ และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากป่า โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 หนักขึ้น โดยไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสิบเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 72 ตรี วรรคสองไม่รอการลงโทษและไม่ปรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบเจ็ดคนกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าก่นสร้าง แผ้วถางป่า อันเป็นการทำลายป่าเพื่อยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แล้วรอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปีเช่นเดียวกับจำเลยอื่น คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยทั้งสิบเจ็ดคนร่วมกันกระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ให้มาร่วมกระทำผิดด้วยเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่บรรยายฟ้องจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังเป็นยุติมาแล้ว เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ แม้คู่ความจะมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ 1 ต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาจำเลยที่ 1 โดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น