แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ใบตราส่งถือเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขนส่งได้ออกให้แก่โจทก์ผู้ส่ง อันแสดงว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 และเมื่อออกใบตราส่งให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จะส่งมอบของให้ได้ก็ต่อเมื่อผู้รับตราส่งเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่จำเลยที่ 1 ในกรณีที่ผู้รับตราส่งขอรับของโดยไม่มีใบตราส่งก็จะต้องมีประกันตามสมควรตามมาตรา 28
เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อโดยผู้ซื้อไม่ได้นำต้นฉบับใบตราส่งไปเป็นหลักฐานในการขอให้ปล่อยสินค้าและเวนคืนต้นฉบับหรือคู่ฉบับใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยพยานของจำเลยที่ 1 รับว่าสินค้าถูกปล่อยไปตามสำเนาใบตราส่ง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าใบตราส่งดังกล่าวเป็นชนิดไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ แต่ใบตราส่งดังกล่าวก็มีข้อความระบุให้ต้องมีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่ง และแม้การซื้อขายสินค้าพิพาทอาจมีข้อโต้แย้งกันตามที่ปรากฏในจดหมายโต้ตอบของโจทก์ก็เป็นเรื่องของคู่สัญญาซื้อขาย ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดของผู้ขนส่งที่มีต่อผู้ส่ง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ตามที่ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 บัญญัติไว้ การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยมิได้รับเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งย่อมเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิเลือกชำระเป็นเงินไทยตามเงื่อนไขใน ป.พ.พ. มาตรา 196 ได้ โดยหากจำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงินไทย ให้คิดอัตราถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สถานที่และในวันที่มีการใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันที่มีการใช้เงิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 99,513.27 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 96,250 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 96,250 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2552 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง (วันที่ 3 มิถุนายน 2553) ต้องไม่เกิน 3,263.27 ดอลลาร์สหรัฐ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ตกลงขายสินค้าข้าวหอมมะลิให้แก่บริษัทบาเซล เค.เอ.ฟายูมิ จำกัด ผู้ซื้อในประเทศอิสราเอล 125 ตัน ในราคาตันละ 770 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 96,250 ดอลลาร์สหรัฐ โดยโจทก์ให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินค่าสินค้าผ่านธนาคาร BANK OF PALESTINE P.L.C. GENERAL MANAGEMENT และโจทก์ตกลงว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางทะเลไปส่งให้แก่ผู้ซื้อที่ประเทศอิสราเอล โดยบรรทุกสินค้าลงเรือ OOCL CHINA V.26 E.45 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อที่ท่าเรือปลายทางประเทศอิสราเอล โดยจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 1 มอบให้แก่โจทก์เป็นหลักฐาน 3 ชุด และสำเนา 2 ชุด ต่อมาเมื่อสินค้าไปถึงที่ท่าเรือปลายทาง จำเลยที่ 1 ออกใบปล่อยสินค้าให้แก่บริษัทบาเซล เค.เอ.ฟายูมิ จำกัด ผู้ซื้อซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไป โดยผู้ซื้อยังไม่ได้ไปรับใบตราส่งจากธนาคาร BANK OF PALESTINE P.L.C. GENERAL MANAGEMENT และโจทก์ยังไม่ได้รับชำระราคาค่าสินค้า
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับขนของทางทะเลและต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ใบตราส่งถือเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขนส่งได้ออกให้แก่โจทก์ผู้ส่ง อันแสดงว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 และเมื่อได้มีการออกใบตราส่งให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจะส่งมอบของให้ได้ก็ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ในกรณีที่ผู้รับตราส่งขอรับของโดยไม่มีใบตราส่งก็จะต้องมีประกันตามสมควรตามบทบัญญัติในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 คดีนี้ได้ความจากนายประพันธ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า โจทก์มอบเอกสารเป็นตั๋วแลกเงิน ใบกำกับสินค้า ใบตราส่ง ใบแจ้งหนี้ และใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่ธนาคาร BANK OF PALESTINE P.L.C. GENERAL MANAGEMENT ธนาคารตัวแทนของผู้ซื้อพร้อมทั้งแจ้งเงื่อนไขการชำระเงินตามข้อตกลงการซื้อขายว่า ให้ธนาคารตัวแทนของผู้ซื้อส่งมอบเอกสารดังกล่าวเมื่อผู้ซื้อได้ชำระเงิน (D/P) ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ในการซื้อขาย ทั้งนี้เพื่อรอส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งต้องนำใบตราส่งไปขอรับสินค้าจากจำเลยที่ 1 ต่อไป แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อยังไม่ได้ชำระเงินค่าสินค้าผ่านธนาคารตัวแทนของผู้ซื้อ และยังไม่ได้รับสลักหลังใบตราส่งจากธนาคารตัวแทนผู้ซื้อ และรับต้นฉบับใบตราส่งที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ไปใช้เป็นหลักฐานรับสินค้าตามวิธีปฏิบัติในการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศตาม Tracing by Booking ต่อมาธนาคารตัวแทนของผู้ซื้อได้นำใบตราส่งพร้อมเอกสารประกอบการส่งออกต่าง ๆ กลับคืนมาให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย แสดงว่าโจทก์และผู้ซื้อมีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขในการส่งมอบสินค้าในระบบ D/P (DOCUMENT AGAINST PAYMENT) โดยให้ผู้ซื้อต้องชำระเงินค่าสินค้าผ่านธนาคารตัวแทนของผู้ซื้อก่อนเป็นสาระสำคัญ จึงจะรับใบตราส่งจากธนาคารตัวแทนของผู้ซื้อไปขอรับสินค้าจากผู้ขนส่งได้ อันเป็นวิธีปฏิบัติในการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เชื่อได้ว่าต้นฉบับเอกสารใบตราส่งที่ผู้ทรงใบตราส่งจะนำไปขอรับสินค้านั้นต้องนำไปไว้ที่ธนาคารจนกว่าผู้ซื้อจะไปชำระเงินแล้ว เมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อยังไม่ได้ชำระเงินผ่านธนาคารตามที่ตกลงจนท้ายที่สุดธนาคารส่งเอกสารทั้งหมดกลับคืนไปให้แก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อโดยผู้ซื้อไม่ได้นำต้นฉบับใบตราส่งไปเป็นหลักฐานในการขอให้ปล่อยสินค้าและเวนคืนต้นฉบับหรือคู่ฉบับใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพรับขนของทางทะเลระหว่างประเทศเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ ย่อมทราบดีถึงแนวทางปฏิบัติการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศดังกล่าวและควรใช้ความระมัดระวังในวิธีและแนวทางปฏิบัติโดยเคร่งครัด แม้สำเนาใบตราส่งจะมีข้อความว่าเป็นต้นฉบับ มีคำว่า ORIGINAL จำเลยที่ 1 สามารถปล่อยสินค้าให้แก่ผู้มีชื่อตามใบตราส่งที่มีคำว่า ORIGINAL ได้ ซึ่งในการขนส่งทางทะเลอาจมีการขอให้ออกใบตราส่งชนิดที่ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้หรือเรียกว่า “Straight Bill of Lading” กรณีนี้ไม่ต้องมีการชำระราคาสินค้าหรือไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารประกอบการชำระเงินตาม L/C เช่น เป็นการส่งของกันระหว่างบริษัทในเครือ เป็นต้น และใบตราส่งชนิดนี้จะเปลี่ยนมือไม่ได้ ซึ่งใบตราส่งและสำเนาใบตราส่งตามเอกสารดังกล่าวก็เป็นใบตราส่งชนิดไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ และได้ระบุชื่อบริษัทบาเซล เค.เอ. ฟายูมิ จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง ซึ่งในการรับมอบสินค้านั้นผู้รับตราส่งมีหน้าที่แสดงตนและพิสูจน์ว่าเป็นบุคคลที่ระบุไว้ในใบตราส่งจริง ผู้ขนส่งจึงจะส่งมอบสินค้าให้โดยไม่ต้องเวนคืนใบตราส่ง แต่ลักษณะของการส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในคดีนี้ไม่ใช่เป็นการส่งมอบกันระหว่างบริษัทในเครือ นอกจากนี้ตัวอย่างใบตราส่งชนิดไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือได้นั้น คำว่า Straight Bill of Lading (B/L) เป็นกรณีซึ่งใช้สำหรับสินค้าที่ชำระราคาแล้วหรือไม่จำต้องชำระราคา เช่น การให้บริการหรือของขวัญ ซึ่งไม่ใช่การขนส่งสินค้าพิพาทที่ต้องมีการชำระราคาสินค้าที่ซื้อขายกัน ทั้งใบตราส่งในคดีนี้ก็มีข้อความระบุด้านล่างว่า “…One original Bill of Lading, duly endorsed, must be surrendered by the Merchant to the Carrier in exchange for The Goods or a delivery order…” อันสรุปสาระสำคัญได้ว่า ในการส่งมอบสินค้าต้องมีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งก่อน ซึ่งหากในการขนส่งครั้งนี้ไม่จำต้องเวนคืนใบตราส่งดังที่ฝ่ายจำเลยอ้าง จำเลยที่ 1 ก็คงไม่จำต้องเวนคืนใบตราส่งมาตามสำเนาใบตราส่งแต่อย่างใด และแม้ว่าการซื้อขายสินค้าพิพาทอาจมีข้อโต้แย้งกันตามที่ปรากฏในจดหมายโต้ตอบของโจทก์ก็เป็นเรื่องของคู่สัญญาซื้อขาย ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดของผู้ขนส่งที่มีต่อผู้ส่ง ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งจึงมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 บัญญัติไว้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยมิได้รับเวนคืนต้นฉบับใบตราส่ง ย่อมเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งและต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างอีกว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในการมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้ในการขนส่งสินค้าซึ่งไม่เหมาะสมกับการขนส่งสินค้าพิพาทครั้งนี้ ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดและต้องรับผิดชอบในความเสียหายด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาการรับขนของทางทะเล โดยส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งโดยไม่เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งตามกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหาย ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าพิพาท เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งชนิดโอนเปลี่ยนมือไม่ได้ระบุชื่อผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งมอบให้แก่โจทก์ไว้เป็นหลักฐานแล้วโจทก์นำต้นฉบับใบตราส่งดังกล่าวไปดำเนินการทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเพื่อให้ผู้ซื้อสินค้ามาชำระราคาที่ธนาคารตัวแทนผู้ซื้อดังกล่าวก่อน จึงจะมอบต้นฉบับใบตราส่งให้ผู้ซื้อรับไปขอออกใบปล่อยสินค้าจากจำเลยที่ 1 ได้ อันเป็นการดำเนินการตามวิธีปฏิบัติการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศทั่วไปซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนั้น และควรใช้ความระมัดระวังตามสมควรตามวิสัยของผู้ประกอบอาชีพการรับขนของทางทะเล แม้ใบตราส่งดังกล่าวจะเป็นชนิดระบุชื่อโอนเปลี่ยนมือได้หรือไม่ก็ตาม หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน้าที่ตามสัญญาการรับขนของทางทะเลของจำเลยที่ 1 ในการรับเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับขนของทางทะเลและใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามที่โจทก์ขอ แต่จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิเลือกชำระเป็นเงินไทยตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ครบถ้วน
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 จะชำระเป็นเงินไทย ให้คิดอัตราถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สถานที่และในวันที่มีการใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันที่มีการใช้เงิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ