คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9776/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้น เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 คือราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ต้องของที่ดินของโจทก์ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 ซึ่งเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร แม้หากจะฟังได้ว่าการที่ได้ที่ดินของโจทก์เข้ากรณีตามมาตรา22 ก็ตาม แต่มาตรา 22 นี้ ให้เป็นดุลพินิจที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ไม่ได้บังคับว่าต้องกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่ามาตรา 21เสมอไป ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนให้ตามมาตรา 21 ย่อมไม่ขัดต่อมาตรา 22 แต่อย่างใด พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 คดีนี้ไม่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ดังนั้นจึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน2533 ซึ่งเป็นวันที่ลงในหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนโดยเห็นว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนนั้นไม่ชอบ กรณีนี้วันที่โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่รัฐมนตรีและศาลฎีกาวินิจฉัยให้ชำระเพิ่มขึ้นรวมกันจำนวน 2,605,413.20 บาทคือวันที่จำเลยที่ 1 วางเงินค่าทดแทนในวันที่ 22 เมษายน 2534โดยให้ได้ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี เพราะโจทก์มิได้ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 188433 ตำบลหนองบอน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 4,000 ตารางวา เมื่อ พ.ศ. 2531 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอนเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ที่ดินของโจทก์ได้ถูกจำเลยทั้งสองเวนคืนเป็นเนื้อที่ 4,000 ตารางวา จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 848.65 บาท โดยไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม เพราะค่าทดแทนที่กำหนดมานั้นต่ำกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวซึ่งปัจจุบันมีการซื้อขายกันราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 50,000 บาทแต่โจทก์ขอค่าทดแทนเพียงตารางวาละ 20,000 บาท วันที่ 12 ธันวาคม2533 โจทก์ได้อุทธรณ์ขอค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นตารางวาละ20,000 บาท ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ตอบให้โจทก์ทราบภายใน 60 วัน ต่อมามีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 แก้ไขราคาค่าทดแทนให้สูงขึ้น แต่จำเลยทั้งสองหาได้แก้ไขไม่ จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์อีกเป็นเงิน 76,605,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2531ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ยที่โจทก์โจทก์ติดใจเรียกร้องเพียง 27,819,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงินแก่โจทก์ 104,424,400 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ของต้นเงิน 76,605,400 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงินค่าทดแทน3,916,000 บาท ซึ่งเป็นเงินค่าทดแทนที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2534 จำเลยที่ 2ได้วางเงินค่าทดแทนโดยนำไปฝากไว้แก่ธนาคารออมสิน สาขาพระโขนงกรุงเทพมหานคร โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 24พฤษภาคม 2531 เพราะไม่ใช่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนและเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ย และการกำหนดค่าทดแทนเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2532 จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน2,605,413.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่15 พฤศจิกายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นเงินจำนวน 6,605,413.11 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 188433 ตำบลหนองบอน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 5,616 ตารางวา มีโจทก์เป็นเจ้าของร่วม เนื้อที่4,000 ตารางวา ที่ดินโฉนดดังกล่าวอยู่ในแนวเขตบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 188433 ทั้งแปลงเป็นเงิน 4,766,000 บาท เฉลี่ยแล้วตารางวาละประมาณ 848.65บาท ส่วนของโจทก์เนื้อที่ 4,000 ตารางวา เป็นเงิน3,394,586.80 บาท และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่มให้อีกตารางวาละ 500 บาท ส่วนของโจทก์เนื้อที่ 4,000 ตารางวา ได้เงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 2,000,000 บาท รวมกับที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้ดังกล่าวแล้วเป็นเงิน5,394,586.80 บาท เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2534 จำเลยที่ 1ได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 188433 ที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดโดยวิธีการฝากเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไว้ในนามเจ้าของที่ดินที่ธนาคารออมสินสาขาพระโขนง กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาสมุดฝากเงินออมสินเอกสารหมาย ล.6
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพียงใดโจทก์ฎีกาว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 2,500 บาท ยังต่ำไป เนื่องจากคดีที่นายปราโมทย์ พันธ์โสภา ฟ้องนางสมัย โพธิเกษม เป็นคดีอาญาซึ่งเป็นที่ดินที่ถูกเวนคืนบริเวณเดียวกับที่ที่ซื้อขายในคดีดังกล่าวมีราคาตารางวาละ 12,000 บาท จำเลยกำหนดค่าทดแทนโดยมิได้ใส่ใจถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตามฟ้องตารางวาละ 20,000 บาท ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนในคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2533 โดยมิได้ทำประโยชน์หรืออาศัยหรืออาศัยหรือใช้ที่ดินที่ซื้อมาประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพและการเวนคืนได้กระทำเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา5 ปี นับแต่มีการเวนคืนการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ต้องกำหนดตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 คือต้องกำหนดให้ไม่สูงกว่าราคาที่โจทก์ซื้อมาตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ซึ่งเป็นเอกสารมหาชนที่ระบุว่าตารางวาละ 1,000 บาท คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ และศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9, 21(2) หรือ (3) ประกอบกับมาตรา 22 ด้วยจึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์อาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 ที่แก้ไขใหม่ มาตรา 21 ทั้งมาตรมาประกอบการพิจารณากำหนดค่าทดแทนจึงขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตามคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ 500 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 2,000,000 บาทไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายที่โจทก์ซื้อมาตามเอกสารหมาย จ.16 และจ.17 จึงเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว เห็นว่าก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว ข้อ 1 บัญญัติว่า ให้ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้า ของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน”ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24″ และข้อ 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่และวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้มีให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้นเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) คือราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในวันที่24 พฤษภาคม 2531 ซึ่งเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครแม้หากจะฟังได้ว่าการได้ที่ดินมาของโจทก์เข้ากรณีตามมาตรา 22ก็ตาม แต่มาตรา 22 นี้ ให้เป็นดุลพินิจที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ ไม่ได้บังคับว่าต้องกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่ามาตรา 21 เสมอไป ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนให้ตามมาตรา 21 ย่อมไม่ขัดต่อมาตรา 22แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจากหลักฐานในคดีอาญาของศาลแขวงพระโขนงที่นายปราโมทย์ฟ้องนางสมัยตามเอกสารหมาย จ.8 และจ.9 ที่ดินที่นายปราโมทย์ซื้อจากนางสมัยในราคาตารางวาละ12,000 บาท อยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ดินของโจทก์และถูกเวนคืนพร้อมกันจึงควรจะกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 12,000 บาท นั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ว่านายปราโมทย์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่ 2 งาน 65 ตารางวาเพื่อปลูกบ้านโดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายยินยอมจดภาระจำยอมในการใช้ถนนร่วมผ่านที่ดินแปลงนี้และพยานหลักฐานในคดีของศาลแขวงพระโขนงตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ก็ไม่มีข้อยุติว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาซื้อขายกันท้องตลาดตารางวาละเท่าใดทั้งโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาในลักษณะที่ดินแปลงใหญ่เนื้อที่ถึง4,000 ตารางวา สภาพที่ดินพิพาทส่วนใหญ่เป็นที่รกไม่ได้ทำประโยชน์ และบางแห่งเป็นบ่อลึกถึง 23 เมตร ใช้ทำประโยชน์ได้ไม่เต็มที่และไม่มีถนนเข้าถึง สภาพและที่ดินของที่ดินสองแปลงนี้แตกต่างกันมาก จึงนำเอาราคาของที่ดินดังกล่าวแปลงหนึ่งแปลงใดมาเปรียบเทียบเพื่อใช้เป็นราคาของที่ดินอีกแปลงหนึ่งไม่ได้ส่วนที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาราคาตารางวาละ5,000 บาท ทำสัญญาประมาณเดือนกันยายน 2532 จดทะเบียนโอนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2533 นั้น โจทก์มีแต่พยานบุคคลเบิกความลอย ๆทั้งไม่ได้นำผู้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์มาเบิกความสนับสนุนและราคาที่ดินพิพาทตามข้ออ้างดังกล่าวเป็นเงินสูงถึง 20 ล้านบาทแต่โจทก์กลับไม่มีทั้งสัญญาซื้อขายที่อ้างว่าทำกับผู้ขายในเดือนกันยายน 2532 และไม่มีหลักฐานการชำระเงินแห่งที่มาของเงินที่นำไปชำระค่าที่ดินพิพาท นอกจากนี้ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2533 เอกสารหมายจ.17 โจทก์จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ขายที่ดินพิพาทเพียงตารางวาละ1,000 บาท พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาในราคาตารางวาละ 5,000 บาท และโจทก์สืบไม่ได้ว่าในวันที่24 พฤษภาคม 2531 อันเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ที่ดินพิพาทของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดเท่าใด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทของโจทก์ตารางวาละ 1,500 บาท เนื้อที่ 4,000 ตารางวาเป็นเงิน 6,000,000 บาท นั้น ศาลชั้นต้นได้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมชอบด้วยมาตรา 21 แล้ว และไม่ขัดต่อมาตรา 22 ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาในราคาตารางวาละ 5,000 บาท แล้วนำราคานั้นมาเป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์เพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อนึ่ง คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,394,586.80 บาท และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯเพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีก 2,000,000 บาท เงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลกำหนดให้เพิ่มขึ้นจึงเป็นเงิน 605,413.20 บาท
ที่โจทก์ฎีกาว่า ขณะที่ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาก่อนสิ้นอายุพระราชกฤษฎีกาฯ ในระหว่างการดำเนินคดีนี้พระราชกฤษฎีกาฯได้สิ้นอายุโดยมิได้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินของโจทก์คืนที่ดินให้แก่ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไขจำเลยต้องออกจากที่ดินของโจทก์และคืนการครอบครองที่ดินแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยอย่างเดิม ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและโจทก์ไม่อาจอ้างเหตุนี้ได้ในศาลชั้นต้น จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า คำขอของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องนอกคำฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยควรเสียดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2534 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยนำเงินไปฝากไว้แก่ธนาคารออมสิน เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นและมาตรา 11 คดีนี้ไม่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ดังนั้นจึงไม่มีวันที่ต้องการจ่ายทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันที่ลงในหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนโดยเห็นว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนนั้นไม่ชอบ กรณีนี้วันที่โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่รัฐมนตรีและศาลฎีกาวินิจฉัยให้ชำระเพิ่มขึ้นรวมกันจำนวน2,605,413.20 บาท คือวันที่จำเลยที่ 1 วางเงินค่าทดแทนในวันที่22 เมษายน 2534 โดยให้ได้ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี เพราะโจทก์มิได้ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8 ต่อปีคงที่นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนด โดยเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 605,413.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงิน2,605,413.20 บาท แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share