คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9769/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลกำหนดให้มีการนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนวันที่จะมีการสืบพยานกันจริง ๆ เป็นกระบวนการเพื่อให้การดำเนินคดีมีความพร้อมมิได้มีผลถึงกับทำให้กระบวนพิจารณารับฟังไม่ได้ ส่วนเอกสารที่จำเลยอ้างว่าโจทก์นำเสนอต่อศาลโดยไม่ปรากฏชื่อ ที่อยู่ของพยานนั้น โจทก์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของพยานบางคน และสถานที่ที่พยานบางคนรับราชการอยู่ซึ่งมีความละเอียดเพียงพอให้รู้ว่าเป็นบุคคลใดบ้าง และพยานบางอันดับก็เป็นบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งโจทก์ไม่จำต้องให้จำเลยตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารก่อนสืบพยาน ทั้งการไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าวของโจทก์ก็มิได้ทำให้จำเลยเสียโอกาสในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด นอกจากนี้ศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้จำเลยคัดสำเนาเอกสารได้ตามที่ขอโดยตลอด ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจในการรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวของโจทก์ได้ เมื่อจำเลยนำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่ลอย ๆ โดยไม่มีพยานบุคคลซึ่งมิได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนมาเบิกความเป็นพยาน พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 135/2, 209, 210, 213, 289, 371 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายหามิด บิดานายมะยูโสะ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2), 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง, 289 (4), 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุก 3 ปี ฐานเป็นซ่องโจร จำคุก 6 ปี ฐานสมคบกันเพื่อก่อการร้าย จำคุก 6 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร จำคุก 4 เดือน ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นซ่องโจร จำคุก 4 ปี ฐานสมคบกันเพื่อก่อการร้าย จำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบของกลาง กับให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท แก่ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท แก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 11 เมษายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายมะยูโสะ ผู้ตาย เป็นบุตรของนายหามิด ผู้ร้อง จำเลยและนายสุรีประกอบอาชีพครูสอนศาสนา ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายสองคนร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจพบปลอกกระสุนปืน ขนาด 9 มม. 5 ปลอก กระสุนปืนขนาด 9 มม. 3 นัด หัวกระสุนปืนขนาด 9 มม. 2 ลูก ฝาปิดถังน้ำมันรถจักรยานยนต์ 1 ฝา ถังน้ำพลาสติกสีดำ 1 ถัง ขวดเครื่องดื่มยี่ห้อแฟนต้าภายในบรรจุน้ำมันเบนซิน 1 ขวด ตะปูดัดแปลงเป็นเรือใบ 1 กิโลกรัม จึงยึดเป็นของกลาง ปลอกกระสุนปืน กระสุนปืน และหัวกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามข้อมูลทะเบียนอาวุธปืน
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานซึ่งโจทก์จะต้องส่งเอกสารต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 15 วัน ได้แก่ เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.14 จ.16 ถึง จ.18 และ จ.22 ถึง จ.25 แต่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติ ทั้งเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏชื่อที่อยู่ของพยาน จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับโจทก์ไม่มีอาวุธปืนของกลาง ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายขณะเกิดเหตุ ไม่มีพยานเอกสารหรือวัตถุพยานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ จึงไม่อาจรับฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้อง และจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแก่ผู้ร้องนั้น เห็นว่า การที่ศาลกำหนดให้มีการนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนวันที่จะมีการสืบพยานกันจริง ๆ เป็นกระบวนการเพื่อให้การดำเนินคดีมีความพร้อมมิได้มีผลถึงกับทำให้กระบวนพิจารณารับฟังไม่ได้ ส่วนเอกสารที่จำเลยอ้างว่าโจทก์นำเสนอต่อศาลโดยไม่ปรากฏชื่อ ที่อยู่ของพยานนั้น โจทก์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของพยานบางคน และสถานที่ที่พยานบางคนรับราชการอยู่ซึ่งมีความละเอียดเพียงพอให้รู้ว่าเป็นบุคคลใดบ้าง และพยานบางอันดับก็เป็นบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งโจทก์ไม่จำต้องให้จำเลยตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารก่อนสืบพยาน ทั้งการไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าวของโจทก์ก็มิได้ทำให้จำเลยเสียโอกาสในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด นอกจากนี้ศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้จำเลยคัดสำเนาเอกสารได้ตามที่ขอโดยตลอด ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจในการรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวของโจทก์ได้ เมื่อจำเลยนำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่ลอย ๆ โดยไม่มีพยานบุคคลซึ่งมิได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนมาเบิกความเป็นพยาน พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยและให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share