คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9761/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้เอาสร้อยคอทองคำและเงินสดของผู้เสียหายทั้งสามแล้ววิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จอดเตรียมอยู่ขับหลบหนี แม้ทรัพย์ที่จำเลยชิงไปจะเป็นของเล็กสามารถพาไปได้โดยไม่ต้องใช้รถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์ที่ชิงได้ไป แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์ที่ชิงได้นั้นไป จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีมีดปลายแหลม 1 เล่ม เป็นอาวุธชิงสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้น ราคา 4,800 บาท เงินสด 70 บาทของเด็กหญิงระพิศ ศิริจันทร์ ผู้เสียหายที่ 1 สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง 1 เส้น ราคา 2,400 บาท เงินสด 70 บาท ของนางสัมฤทธิ์ ศรีหลอย ผู้เสียหายที่ 2 และสร้อยคอทองคำหนัก2 สลึง 1 เส้น ราคา 2,400 บาท ของนางสาวลาวัลย์ ครองเคหาผู้เสียหายที่ 3 ไปโดยทุจริต ในการชิงทรัพย์จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้บริเวณลำคอผู้เสียหายที่ 1 พร้อมพูดขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 1 ว่าในทันใดนั้นจะแทงผู้เสียหายที่ 1 และพูดขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ว่า จะใช้อาวุธปืนที่จำเลยพกมายิงผู้เสียหายทั้งสามหากขัดขืนการชิงทรัพย์ เมื่อจำเลยชิงทรัพย์แล้ว จำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เตรียมมาเป็นยานพาหนะหลบหนีพาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสามไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 10,140 บาท (ที่ถูกคือ 9,740 บาท)แก่ผู้เสียหายทั้งสาม และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าวของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 9,750 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสามและให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2310/2537และหมายเลขแดงที่ 1728/2538 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่28 สิงหาคม 2537 เวลา 16.30 นาฬิกา ผู้เสียหายทั้งสามและนางคำ ดารุณิกรณ์ เดินกลับจากซื้อกับข้าวที่ร้านค้าตรงข้ามป้อมตำรวจหนองบัว ครั้งมาถึงบริเวณคอสะพานข้ามคลองน้ำใสพบจำเลยยื่นอยู่ที่สะพาน จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหายที่ 2พร้อมกับพูดว่า หยุด ถ้าไม่อยากตาย มีเงินมีทองเอาออกมาให้หมดหากวิ่งหนีจะใช้ปืนยิง ผู้เสียหายทั้งสามและนางคำไม่กล้าวิ่งหนีจำเลยเอาสร้อยคอทองคำและเงินสดของผู้เสียหายทั้งสามแล้ววิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่บริเวณคอสะพานขับหลบหนี
ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ด้วยนั้น พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิโดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจ หรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธหรือวัตถุระเบิดหรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆกึ่งหนึ่ง” ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้เสียหายทั้งสามพบจำเลยนั้นจำเลยยืนอยู่ที่สะพานข้ามคลองน้ำใสโดยไม่มีผู้ใดอยู่ในบริเวณนั้นอีก หลังจากจำเลยได้ทรัพย์จากผู้เสียหายแล้วก็วิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่บริเวณคอสะพานข้ามคลองน้ำใสขับหลบหนีศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์คันนั้นมาจอดไว้เองจึงขับไปได้โดยง่าย แม้ทรัพย์ที่จำเลยชิงไปนั้นจะเป็นของเล็กสามารถพาไปได้โดยไม่ต้องใช้รถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์ที่ชิงได้นั้นไป แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์ที่ชิงได้นั้นไปต้องตามวัตถุประสงค์ของมาตรา 340 ตรี ซึ่งมุ่งหมายที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดโดยใช้ยานพาหนะพาทรัพย์ที่ชิงได้นั้นไปให้หนักขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share