คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9733/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้วจึงลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา การนับวันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงต้องถือเอาวันที่โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาซึ่งเป็นวันโฆษณาฉบับหลังเป็นเกณฑ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ลงโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2537 พร้อมทั้งในคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดให้เจ้าหนี้เสนอ คำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาดังกล่าวและได้มีการจัดส่งเล่มแรก ให้แก่สมาชิกที่ไปรับด้วยตนเองเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2537 แต่ในหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเอกสารหมาย ร.2 นอกจากจะมีข้อความว่าได้จัดส่งราชกิจจานุเบกษาเล่มแรกให้แก่สมาชิกที่มารับด้วยตนเองเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2537 แล้วยังมีข้อความระบุไว้ด้วยว่า สำนักงานราชกิจจานุเบกษาไม่อาจตรวจสอบได้ว่าราชกิจจานุเบกษาเล่มดังกล่าวพิมพ์เสร็จเมื่อใดส่วนการส่งให้แก่สมาชิกโดยทางไปรษณีย์นั้น น่าจะดำเนินการในเวลาก่อนหรือหลังจากวันที่ 23 มิถุนายน 2537 ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ดังนี้ จึงยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติว่าได้มีการเผยแพร่ ราชกิจจานุเบกษาเล่มดังกล่าวแก่บุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อ วันที่ 23 มิถุนายน 2537 เมื่อหนังสือที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีถึงกรมบังคับคดีลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 มีข้อความว่า สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการประกาศเรื่องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 111 ตอนที่ 41 ลง วันที่ 24 พฤษภาคม 2537 แล้วจึงฟังได้ว่า ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2537 ได้มีการโฆษณาเผยแพร่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคดีนี้โดยราชกิจจานุเบกษาเล่มดังกล่าวแก่บุคคลทั่วไปแล้ว การนับระยะเวลา 2 เดือนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา91 จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่30 พฤษภาคม 2537 ไม่ใช่เริ่มนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537อันเป็นวันที่จัดส่งราชกิจจานุเบกษาเล่มแรกให้แก่ สมาชิกประเภทที่ไปรับด้วยตนเอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้(จำเลย) ที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2537ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537ผู้คัดค้านมีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องไม่ได้ยื่นภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีนี้ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลงประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่24 พฤษภาคม 2537 แต่ราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าวได้พิมพ์เสร็จและออกเผยแพร่แก่สาธารณชนวันแรกเมื่อวันที่27 มิถุนายน 2537 จึงครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่27 สิงหาคม 2537 ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่16 สิงหาคม 2537 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายคำสั่งของผู้คัดค้านไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับคำขอชำระหนี้ของผู้ร้องเพื่อดำเนินการต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า คดีนี้ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2537และประกาศลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 พฤษภาคม 2537เจ้าหนี้จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2537 อันเป็นวันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาซึ่งเป็นวันหลังสุดครบกำหนดในวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 โดยวันที่ 24 กรกฎาคม 2537 เป็นวันหยุดราชการ มีเจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 ราย ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีโอกาสทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนเจ้าหนี้อื่น และมีโอกาสยื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อน เมื่อผู้คัดค้านนัดผู้ร้องให้มาวางเงินประกันค่าใช้จ่ายชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และให้ถ้อยคำเกี่ยวกับลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2537 อันอยู่ในกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ การที่ผู้ร้องไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาเป็นเพราะความหลงลืมและไม่ระมัดระวังของผู้ร้องเองขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านของลูกหนี้ที่ 1ถึงที่ 3 รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องแล้วดำเนินการต่อไป
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ข้อเท็จจริงตามที่ได้ความในเบื้องต้นนั้น ผู้คัดค้านได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์ดาวสยามฉบับลงวันที่29 เมษายน 2537 และได้มีการลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเล่า 111 ตอนที่ 41 หน้า 56 วันที่ 24 พฤษภาคม 2537โดยกำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอต่อผู้คัดค้านภายในกำหนด 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งดังกล่าวด้วย แต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์ดาวสยามกับที่ลงในราชกิจจานุเบกษาไม่ตรงกัน ในกรณีเช่นนี้การนับวันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต้องถือเอาวันที่โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาซึ่งเป็นวันโฆษณาฉบับหลังเป็นเกณฑ์ ผู้ร้องนำสืบว่า ราชกิจจานุเบกษาได้มีการจัดส่งเล่มแรกให้แก่สมาชิกที่ไปรับด้วยตนเองเมื่อวันที่23 มิถุนายน 2537 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเอกสารหมาย ร.2 ต้องถือเอาวันที่ 23 มิถุนายน 2537 เป็นวันแรกที่มีการเผยแพร่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 จึงยังไม่พ้นกำหนด2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด พิเคราะห์แล้วหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเอกสารหมาย ร.2นอกจากจะมีข้อความว่าได้จัดส่งราชกิจจานุเบกษาเล่มแรกให้แก่สมาชิกที่มารับด้วยตนเองเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2537 แล้วยังมีข้อความระบุไว้ด้วยว่าสำนักงานราชกิจจานุเบกษาไม่อาจตรวจสอบได้ว่าราชกิจจานุเบกษาเล่มดังกล่าวพิมพ์เสร็จเมื่อใดส่วนการส่งให้แก่สมาชิกโดยทางไปรษณีย์นั้น น่าจะดำเนินการในเวลาก่อนหรือหลังจากวันที่ 23 มิถุนายน 2537 ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จากข้อความดังกล่าวจึงยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติว่าได้มีการเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาเล่มดังกล่าวแก่บุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2537 เมื่อพิเคราะห์หนังสือที่ นร 0209/9728 วันที่ 30 พฤษภาคม 2537 เอกสารหมาย ค.4 ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีถึงกรมบังคับคดีซึ่งมีข้อความดังนี้ “ตามหนังสือกรมบังคับคดีที่ ยธ 0409/947/829ลงวันที่ 26 เมษายน 2537 ส่งประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์(คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) ในคดีล้มละลายของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ ล.103/2537 เพื่อขอให้ดำเนินการประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษานั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการประกาศเรื่องดังกล่าวในหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 111 ตอนที่ 41 ลง วันที่ 24 พฤษภาคม 2537 แล้ว” จากข้อความดังกล่าวจึงฟังได้ว่า ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2537 ได้มีการโฆษณาเผยแพร่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคดีนี้โดยราชกิจจานุเบกษาเล่มดังกล่าวแก่บุคคลทั่วไปแล้ว การนับระยะเวลา 2 เดือน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 91 จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2537ไม่ใช่เริ่มนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 อันเป็นวันที่จัดส่งราชกิจจานุเบกษาเล่มแรกให้แก่สมาชิกประเภทที่ไปรับด้วยตนเองตามฎีกาของผู้ร้องเมื่อผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 จึงล่วงพ้นกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ผู้คัดค้านมีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องจึงชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องอ้างมาในฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share