แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยรับจ้างจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมให้แก่สายลับ โดยรับภาพถ่ายไปจากสายลับนัดหมายกับสายลับเพื่อส่งมอบบัตรประจำตัวประชาชนปลอมที่รับจ้าง แล้วจำเลยนำบัตรประจำตัวประชาชนของกลางมาส่งมอบให้แก่สายลับ และถูกจับกุมได้พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของกลาง จึงถือได้ว่าเป็นการนำออกใช้ซึ่งเอกสารปลอมแล้ว เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารราชการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14 (2) (3) และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) วรรคแรก และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ส่วนของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้ใดทำเป็นความผิดจึงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกสยุมภู ร้อยตำรวจเอกเศรษฐวัฒน์ พันตำรวจโทวสันต์ นายวีระชาติ และพันตำรวจตรีเพชรชุมพร เบิกความเป็นพยาน จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสยุมภูและร้อยตำรวจเอกเศรษฐวัฒน์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ร้อยตำรวจเอกเศรษฐวัฒน์เห็นการติดต่อทำบัตรประจำตัวประชาชนระหว่างสายลับกับจำเลย โดยมีการส่งมอบภาพถ่ายและเงินให้แก่จำเลย และยังมีการนัดหมายส่งมอบบัตรประจำตัวประชาชนปลอมกันซึ่งต่อมาเมื่อถึงกำหนดวันนัด ร้อยตำรวจเอกสยุมภูกับพวกและสายลับเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน โดยร้อยตำรวจเอกสยุมภูและร้อยตำรวจเอกเศรษฐวัฒน์เข้าไปนั่งที่โต๊ะอาหารภายในศูนย์อาหาร ห่างจากโต๊ะที่สายลับนั่งอยู่ประมาณ 3 ถึง 5 เมตร หลังจากนั้นจำเลยเข้ามาที่โต๊ะของสายลับ และส่งมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่สายลับและสายลับส่งมอบเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลย เมื่อสายลับนำบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวมามอบให้ร้อยตำรวจเอกเศรษฐวัฒน์แล้ว ร้อยตำรวจเอกสยุมภูจึงเข้าทำการจับกุมจำเลยได้พร้อมธนบัตรจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจำเลยส่งมอบให้แก่สายลับ จะเห็นได้ว่า ภาพถ่ายในบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวเป็นภาพถ่ายเดียวกันกับที่ร้อยตำรวจเอกสยุมภูถ่ายเอกสารและลงบันทึกประจำวันไว้ และเป็นภาพถ่ายที่สายลับมอบให้แก่จำเลยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 ณ สถานที่นัดหมาย ภายในซอยสุขุมวิท 23 จึงเชื่อได้ว่า สายลับได้ไปพบจำเลยยังสถานที่นัดหมาย ซอยสุขุมวิท 23 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 และส่งมอบภาพถ่าย ให้แก่จำเลยเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมจริง อันเป็นผลให้บัตรประจำตัวประชาชน มีภาพถ่ายตรงกับภาพถ่ายที่สายลับส่งมอบให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่า บัตรประจำตัวประชาชนปลอมดังกล่าว จำเลยรับจ้างจัดทำและนำมาส่งมอบให้แก่สายลับ อีกทั้งเมื่อส่งบัตรประจำตัวประชาชน ไปทำการตรวจพิสูจน์ พันตำรวจโทวสันต์และนายวีระชาติ ซึ่งเป็นผู้ตรวจพิสูจน์บัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวเบิกความว่า บัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวมีรูปร่างลักษณะของตัวอักษร ตัวเลขและลักษณะตำหนิพิเศษ แตกต่างจากบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริง เมื่อตรวจสอบคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน 5713-3-008547 ที่ปรากฏใต้ภาพในบัตรประจำตัวประชาชน เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรปรากฏว่าหมายเลขคำขอมีบัตรดังกล่าวเป็นของนางสาวณัฐวรรณ และเมื่อตรวจสอบเลขรหัสกำกับบัตร ง 0336507 8 ที่อยู่ด้านหลังบัตร ก็ปรากฏว่าวัสดุที่ใช้ทำบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวถูกแจกจ่ายให้เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มิใช่จังหวัดเชียงรายตามที่อยู่ที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าบัตรประจำตัวประชาชนตามเอกสารหมาย จ. 15 เป็นบัตรประจำตัวประชาชนปลอมประกอบกับร้อยตำรวจเอกสยุมภูกับพวกเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ เมื่อได้รับแจ้งว่า จำเลยมีพฤติการณ์เกี่ยวกับการปลอมบัตรประจำตัวประชาชน ก็ทำการไปตามอำนาจหน้าที่และเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของการสืบสวน ตรวจค้นและจับกุม จึงไม่มีเหตุอันใดที่จะกระทำการกลั่นแกล้งจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยรับจ้างจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมให้แก่สายลับ โดยจำเลยรับภาพถ่ายและเงินจำนวนหนึ่งไปจากสายลับและนัดหมายกับสายลับเพื่อส่งมอบบัตรประจำตัวประชาชนปลอมตามที่รับจ้าง แล้วจำเลยนำบัตรประจำตัวประชาชนตามเอกสารหมาย จ. 15 มาส่งมอบให้แก่สายลับและถูกร้อยตำรวจเอกสยุมภูกับพวกทำการจับกุมได้พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนปลอมดังกล่าว จึงถือได้ว่า เป็นการนำออกใช้ซึ่งเอกสารปลอมแล้ว เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารราชการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม ที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดีในทำนองว่าในระหว่างที่จำเลยและนางทิพย์ทินันท์ รับประทานอาหารอยู่ที่บริเวณศูนย์อาหารที่เกิดเหตุนางดาไม่ทราบนามสกุลมาพบจำเลยและขอร้องให้จำเลยนำบัตรประจำตัวประชาชนของนางดาไปมอบให้แก่มารดาของนางดาที่โรงพยาบาลราชวิถีเนื่องจากนางดาติดธุระ โดยจะให้เงินจำเลยจำนวน 500 บาท เมื่อจำเลยหยิบบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวขึ้นดู ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจแสดงตัวเข้าจับกุมจำเลยนั้น เห็นว่า โรงพยาบาลราชวิถีตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิใกล้เคียงกับห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน ซึ่งจำเลยนั่งรับประทานอาหารอยู่ในขณะเกิดเหตุ หากนางดาจะนำบัตรประจำตัวประชาชนไปมอบให้แก่มารดาของตนย่อมกระทำได้โดยง่าย โดยไม่จำเป็นต้องขอร้องให้จำเลยดำเนินการให้เพราะจำเลยก็ไม่รู้จักมารดาของนางดามาก่อน ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงไม่สมเหตุสมผลและไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายและเรียกร้องเงินจำนวน 50,000 บาท จากจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้แจ้งความร้องทุกข์หรือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้กระทำการดังกล่าวต่อจำเลยแต่อย่างใด จึงเป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้างเช่นนั้น ข้อต่อสู้ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกันส่วนข้อต่อสู้อื่นๆ ของจำเลยเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยและไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษา