คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 972/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินหลายโฉนดแต่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน แต่ละโฉนดเป็นของเจ้าของร่วมสองคนเมื่อศาลเห็นว่าการแบ่งที่ดินอาจทำได้โดยไม่เสียหายศาลอาจสั่งให้แบ่งให้เจ้าของร่วมคนหนึ่งได้ที่ดินโฉนดหนึ่งทั้งโฉนด และให้อีกคนหนึ่งได้อีกสองโฉนดก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยเป็นเจ้ากรรมสิทธิที่ดินร่วมกัน ๔ โฉนดที่ดินทั้งหมดนี้ติดภาระจำนองโจทก์ไม่มีความประสงค์จะมีกรรมสิทธิร่วมกับจำเลยต่อไป จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยแบ่งแยกที่พิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลกันหรือขายทอดตลาด ได้เงินเหลือจากไถ่จำนองแล้วแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละส่วน
จำเลยให้การว่ายินดีแบ่งแยกโดยประมูลระหว่างกันเอง
ศาลนัดพร้อมโจทก์ได้ยื่นคำร้องว่าขอให้ศาลแบ่งที่ดินให้ ตอนใดที่ไม่ตกลงกันได้ก็ให้ชดใช้ตัวเงินแทนตาม ป.พ.พ.ม. ๑๓๖๔ และว่าที่ดินที่พิพาทติดต่อเป็นผืนเดียวกันอาจแบ่งได้เป็นส่วน ๆ ดังนี้คือ ที่ดินโฉนดที่ ๓๖,๓๗ มีเนื้อที่รวมกัน ๗ ไร่ ๓ งาน ๗๙ ตารางวา ส่วนหนึ่ง โฉนดที่ ๓๙ มีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๖๐ ตารางวา อีกส่วนหนึ่ง โจทก์ยินดีให้จำเลยเลือกก่อนว่าจะเอาส่วนไหน ส่วนโฉนดที่ ๓๘ นั้น เมื่อไม่มีทางชดใช้เงินกันได้ก็ขอให้ศาลสั่งแบ่งคนละครึ่งหรือประมูลหรือขายทอดตลาดจำเลยคัดค้านว่าไม่สามารถแบ่งที่พิพาทได้ นอกจากโดยวิธีประมูล เพราะจำเลยลงทุนบำรุงสวนทั้ง ๔ โฉนดมากกว่าโจทก์ และถ้ายอมแบ่งไปให้คนทำสวน ๓ ครอบครัว จะต้องกระจัดกระจาย จำเลยแถลงว่าเมื่อเข้าหุ้นซื้อที่พิพาทแล้ว ต่างก็หาประโยชน์เอาเองไม่ได้แบ่งกัน ทุนที่ลงไปต่างก็ไม่เรียกร้องกัน
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษาว่าให้จำเลยเลือกที่ดินก่อนว่าจะเอาโฉนดที่ ๓๖ กับ ๓๗ หรือโฉนดที่ ๓๙ ส่วนโฉนดที่ ๓๘ ให้ประมูลกันเอง หรือขายทอดตลาด ฯลฯ ถ้าจำเลยไม่ใช้สิทธิเลือกก็ให้โจทก์เลือกก่อน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าหากจำเลยไม่ใช้สิทธิเลือกก็ให้โฉนดที่ ๓๙ ตกได้กับโจทก์ เพราะจำเลยรับในคำแถลงการณ์แล้วว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในโฉนดที่ ๓๙ อยู่ แล้ว
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาข้อที่จำเลยฎีกาดังนี้ (๑) ในเรื่องให้แบ่งแยกที่พิพาทนั้น ความจริงตามฟ้องโจทก์ไม่เป็นเช่นที่จำเลยอ้างมาในฎีกา ฉนั้นที่ศาลสั่งให้แบ่งที่ดินกันจึงไม่เป็นการเกินคำขอ
(๒) ตาม ป.พ.พ. ม. ๑๓๖๔ ศาลอาจให้แบ่งที่ดินกันก็ได้ จำเลยไม่มีเหตุผลเพียงพอให้ศาลเห็นว่าจะเป็นการเสียหายถ้าแบ่งกันเช่นนี้
(๓) ที่พิพาทมีโฉนดแผนที่แน่นอนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องย้อนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในข้อนี้อีก และจำเลยเป็นฝ่ายเลือกก่อนอยู่แล้วจึงไม่มีอะไรเสียหาย
(๔) ที่จำเลยว่าการที่ศาลพิจารณาให้แบ่งที่ดินหลายโฉนดให้ เจ้าของร่วมคนหนึ่งได้โฉนดหนึ่ง เจ้าของร่วมอีกคนหนึ่งได้อีกสองโฉนด เช่นนี้ เป็นการขัดกับ ป.พ.พ.ม. ๑๓๖๔ นั้น ข้อนี้จำเลยไม่ยกขึ้นไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงไม่มีสิทธิอ้างในชั้นฎีกา แต่อย่างไรก็ดี การที่ศาลแบ่งเช่นนี้ก็หาขัดกับ ป.พ.พ. ม.๑๓๖๔ ไม่พิพากษายืน

Share