คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9710/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ป. เป็นจำเลยที่ 2 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 904/2537 ของศาลชั้นต้น ต่อมาคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 401/2540 ซึ่งคดีที่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ต้องเป็นกรณีที่มีคู่ความเดียวกันหรือเป็นผู้สืบสิทธิจากคู่ความคนก่อนรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ผลของคำพิพากษาฎีกาที่ 401/2540 ผูกพันโจทก์และจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ประเด็นพิพาทในคดีนี้ที่เป็นประเด็นเดียวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ย่อมเป็นที่สุด คงเหลือประเด็นพิพาทข้ออื่น ๆ ซึ่ง คู่ความจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้จบสิ้นกระแสความเสียก่อน เมื่อศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาสืบพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายในประเด็นดังกล่าวด้วยการสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 904/2537 ของศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง สมควรให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ปี ๒๕๐๓ โจทก์ที่ ๑ กับจำเลยได้ร่วมกันซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๒๕ หมู่ที่ ๑ (๙) ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่ผู้เดียว ต่อมาวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๐ โจทก์ที่ ๑ และจำเลยตกลงขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ คนละ ๑ ไร่ ต่อมาจำเลยขอยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยบอกว่าจะนำไปยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินและโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ แต่จำเลยกลับยื่นคำขอประกาศขายที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างคือ บ้านเลขที่ ๑๔๓ หมู่ที่ ๙ ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ให้แก่ ป. ภริยา ม. บุตรจำเลย โดยเป็นการสมคบกันฉ้อฉลโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ เพราะความจริงแล้วไม่มีการซื้อขายกันแต่อย่างใด บ้านเลขที่ ๑๔๓ เป็นของโจทก์ที่ ๑ จำเลยเป็นเพียง ผู้อาศัย ขอให้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแบ่งแยกและโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๒๕ ดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๑ กับที่ดินในส่วนที่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ครอบครองอยู่คนละ ๑ ไร่ ตามแผนผังที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ กับให้จำเลยออกจากบ้านเลขที่ ๑๔๓ และที่ดินในส่วนของโจทก์ที่ ๑ โดยห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าที่ดินและบ้านตามฟ้องเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว กับให้ขับไล่โจทก์ทั้งสี่และบริวารออกจากที่ดินและบ้านตามฟ้อง ให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงินปีละ ๑๓,๖๘๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ จะออกและส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่จำเลย
โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า ประเด็นข้อพิพาทส่วนใหญ่ในคดีนี้ ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๐๔/๒๕๓๗ ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว จึงห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำสำนวนคดีดังกล่าวมาผูกรวมกับสำนวนคดีนี้ และเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่และฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ ๑ และจำเลยถึงแก่กรรม ห. และ ม. ทายาทของโจทก์ที่ ๑ และจำเลยตามลำดับ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้เมื่อปี ๒๕๓๓ กล่าวหาว่า โจทก์ที่ ๑ และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๒๕ หมู่ที่ ๑ ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาโจทก์ที่ ๑ และจำเลยแบ่งขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ คนละ ๑ ไร่ โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ชำระราคาที่ดินให้โจทก์ที่ ๑ และจำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทไปขอรังวัดแบ่งแยกเพื่อจดทะเบียนโอนแก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ แต่จำเลยยกเลิกคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วยื่นคำขอประกาศขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ ๑๔๓ หมู่ที่ ๙ ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นบ้านพิพาทในคดีนี้ แก่ ป. ภริยา ม. บุตรจำเลย โดยสมคบกันฉ้อฉลโจทก์ทั้งสี่ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนแก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ กับให้จำเลยออกจากบ้านพิพาทและที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ ๑ ห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป ต่อมาปี ๒๕๓๕ ระหว่างพิจารณาคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ ๑ ป. เป็นจำเลยที่ ๒ กล่าวหาว่า จำเลยและ ป. สมคบกันจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ป. เพื่อฉ้อฉลโจทก์ทั้งสี่ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยและ ป. ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๐๔/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสี่และจำเลยร่วมกันแถลงขอให้รอการพิจารณาคดีนี้ไว้เพื่อฟังผลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๐๔/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้น ซึ่งต่อมาคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๑/๒๕๔๐ ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ (จำเลยคดีนี้) เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกัน จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ คนละ ๑ ไร่ และส่งมอบการครอบครองแล้ว ให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ ๑๔๓ ระหว่างจำเลยที่ ๑ และ ป. จำเลยที่ ๒ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ของที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสี่เพื่อดำเนินการต่อไป ปัญหาวินิจฉัยประการแรกมีว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่และฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๐๔/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีที่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ต้องเป็นกรณีที่มีคู่ความเดียวกันหรือเป็นผู้สืบสิทธิจากคู่ความคนก่อนรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดแล้ว แต่สำหรับคดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลย และจำเลยฟ้องแย้งก่อนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๐๔/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้น แม้จะเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไปแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๐๔/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำ แต่ด้วยผลของคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๑/๒๕๔๐ ที่ผูกพันโจทก์ทั้งสี่และจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ และจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกันโดยจำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ คนละ ๑ ไร่ และส่งมอบการครอบครองแล้วเป็นผลให้ประเด็นพิพาทข้อ ๑ ข้อ ๓ และข้อ ๔ แห่งคดีนี้ย่อมเป็นที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว คงเหลือประเด็นพิพาทข้อ ๒ ที่ว่า โจทก์ที่ ๒ หรือจำเลยเป็นเจ้าของบ้านพิพาท ข้อ ๕ คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ และข้อ ๖ ค่าเสียหายของจำเลยมีเพียงใดซึ่งคู่ความจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้จบสิ้นกระแสความเสียก่อน เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาสืบพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายในประเด็นดังกล่าวด้วยการสั่งงดสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ทั้งสี่และฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๐๔/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง สมควรให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ ประกอบมาตรา ๒๔๗
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ให้ศาลชั้นต้นกำหนดให้คู่ความสืบพยานในประเด็นที่จำเป็นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share