คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 971/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างวางกฎเกณฑ์ว่า นายจ้างจะจ่ายเงินเพิ่มแก่ลูกจ้างที่ไม่ขาดงานเลยในเดือนหนึ่ง ๆ จำนวนหนึ่ง ถ้าขาดงานบ้างเงินเพิ่มก็จะลดลงตามส่วน เงินเพิ่มนี้เป็นเงินประเภทตอบแทนความขยันหรือที่เรียกกันว่าเบี้ยขยัน ไม่ใช่ตอบแทนการทำงานโดยตรง แม้ในข้อตกลงนั้นจะเรียกว่าค่าจ้างก็ตาม เงินเพิ่มนี้ก็หาใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นแก่ลูกจ้างที่เข้าเกณฑ์ดังนี้
๑. ในหนึ่งเดือนไม่มีวันลาใด ๆ จะได้ค่าจ้างเพิ่ม ๔๕๐ บาทต่อเดือน
๒. ในหนึ่งเดือนมีวันลา ๒ วัน จะได้ค่าจ้างเพิ่ม ๓๕๐ บาทต่อเดือน
๓. ในหนึ่งเดือนมีวันลา ๔ วัน จะได้ค่าจ้างเพิ่ม ๒๕๐ บาทต่อเดือน
๔. ในหนึ่งเดือนมีวันลา ๖ วัน จะได้ค่าจ้างเพิ่ม ๒๐๐ บาทต่อเดือน
๕. ในหนึ่งเดือนมีวันละ ๖ วันขึ้นไป จะได้ค่าจ้างเพิ่ม ๕๐ บาทต่อเดือน เฉพาะในเดือนตุลาคม ๒๕๒๔ โจทก์ทุกสำนวนไม่มีวันลา มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับเดือนนั้นคนละ ๔๕๐ บาท ต่อมาจำเลยประกาศปิดกิจการ จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แต่ไม่นำค่าจ้างเพิ่ม ๔๕๐ บาทมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชย ทำให้โจทก์ทุกสำนวนขาดเงินที่ควรได้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ทุกสำนวนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบสี่สำนวนให้การว่า การที่จำเลยทำข้อตกลงให้เงินเพิ่มรายเดือนแก่ลูกจ้าง เป็นการให้เบี้ยขยัน ไม่ถือเป็นค่าจ้าง สำหรับเดือนตุลาคม ๒๕๒๔ โจทก์จำเลยตกลงกันเป็นพิเศษว่าจะไม่มีการจ่ายเงินเพิ่มหรือเบี้ยขยัน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆแก่โจทก์อีก
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทุกคนมีวันขาดงานในเดือนตุลาคม ๒๕๒๔จึงได้รับเงินเพิ่มตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เงินเพิ่มนี้แม้จะใช้คำว่าค่าจ้างก็ไม่เป็นค่าจ้าง เพราะเป็นการจ่ายไม่มีจำนวนแน่นอน และเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างขยันเท่านั้น จะนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มเฉพาะในเดือนตุลาคม ๒๕๒๔ แก่โจทก์แต่ละสำนวน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างวางกฎเกณฑ์ไว้ว่า นายจ้างจะจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างที่ไม่ขาดงานเลยในเดือนหนึ่ง ๆจำนวน ๔๕๐ บาท แต่ถ้าลูกจ้างขาดงานบ้างเงินเพิ่มก็จะลดลงตามส่วน วิธีการในข้อตกลงเช่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้ลูกจ้างมีความขยันในการทำงาน ถ้าขยันมากก็ได้เงินเพิ่มมาก ขยันน้อยก็ได้เงินเพิ่มน้อย ต่างหากจากอัตราค่าจ้างที่กำหนดไว้เป็นรายวัน เงินประเภทนี้ลูกจ้างจะได้รับต่อเมื่อผลปรากฏออกมาว่า ในเดือนที่ผ่านมาลูกจ้างไม่ขาดงานเลย หรือขาดงานไปกี่วัน เป็นอัตราไม่ตายตัว ดังนั้น ในข้อตกลงจึงกำหนดข้อความไว้ว่า เงินเพิ่มแต่ละเดือนจะไม่นำไปสมทบในเดือนต่อไป เพราะไม่มีความแน่นอนว่าเดือนต่อไปลูกจ้างคนใดจะขยันเท่าเดิม มากหรือน้อยกว่าเดิมเป็นเงินประเภทตอบแทนความขยันหรือที่เรียกกันว่าเบี้ยขยัน ไม่ใช่ตอบแทนการทำงานโดยตรงไม่มีลักษณะเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒ แม้ในข้อตกลงนั้นจะใช้คำว่าค่าจ้างก็ไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวจึงนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยไม่ได้
พิพากษายืน

Share