คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2436-2438/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยระเบียบเดิม ไม่ใช่เป็นสิทธิที่เกิดจากข้อเรียกร้องหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งทำขึ้นใหม่ แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักการในการจ่ายเงินบำเหน็จจากเดิมโดยให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีให้แก่ลูกจ้างแทนที่จะรอจ่ายเมื่อลูกจ้างออกจากงานหรือตาย แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลง แก้ไขเฉพาะกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงิน ส่วนสาระสำคัญอื่นๆ เช่น ประเภทของลูกจ้าง หรือคุณสมบัติของลูกจ้างผู้มี สิทธิได้รับเงินบำเหน็จ คงใช้หลักเกณฑ์ตามระเบียบเดิมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับหลังเป็นเพียงกำหนดให้สิทธิ แก่ลูกจ้างที่จะขอเลือกรับเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี หรือขอรับเงินบำเหน็จเมื่อออกจากงานก็ได้เท่านั้นมิได้หมายความเลยไปว่าถ้าลูกจ้างขอรับเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีไปแล้ว ก็สิ้นความผูกพันที่มีอยู่ตามระเบียบเดิม นายจ้างมีสิทธิจะนำระเบียบเดิมมาใช้ บังคับแก่ลูกจ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามสำนวนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสำนวนเพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลพิพากษาให้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยรับโจทก์ทั้งสามสำนวนเป็นลูกจ้างตามข้อผูกพันที่จำเลยทำไว้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม การจ่ายเงินบำเหน็จแก่ลูกจ้างจำเลยใช้ระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดเรื่องค่าชดเชยไว้ว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายและเงินบำเหน็จ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินค่าชดเชย ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว ต่อมาได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า จำเลยจะจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีให้แก่ลูกจ้างจำเลยจึงจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีให้แก่โจทก์ทั้งสามสำนวน โจทก์ทั้งสามสำนวนเป็นผู้มีสิทธิได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชย เมื่อโจทก์ทั้งสามสำนวนออกจากงานเพราะเกษียณอายุจำต้องนำเงินบำเหน็จมาหักออกจากค่าชดเชยจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสามสำนวนจำนวนไม่ถึงตามฟ้องค่าชดเชยนอกนั้นไม่มีสิทธิเรียกร้องอีก

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสามสำนวนเต็มจำนวนตามฟ้อง

จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สิทธิของลูกจ้างหรือโจทก์ทั้งสามสำนวนที่จะได้รับบำเหน็จ เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยระเบียบเดิมของโจทก์ ไม่ใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นจากข้อเรียกร้องหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งทำขึ้นใหม่ แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวจะได้เปลี่ยนแปลงการแก้ไขหลักการในการจ่ายเงินบำเหน็จจากเดิมโดยให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีให้แก่ลูกจ้างแทนที่จะรอจ่ายเมื่อลูกจ้างออกจากงานหรือตาย แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเฉพาะกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงิน ส่วนสาระสำคัญอื่น ๆ เช่น ประเภทของลูกจ้างผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือคุณสมบัติของลูกจ้างผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ คงใช้หลักเกณฑ์ตามระเบียบเดิมทุกประการ ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินนั้นมีจุดประสงค์ต้องการให้ลูกจ้างได้รับเงินไปทำประโยชน์ก่อนเท่านั้น ไม่ใช่ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินขาดตอนเด็ดขาดโดยปราศจากเงื่อนไข การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีไม่ว่าจะจ่ายขณะลูกจ้างยังเป็นลูกจ้างหรือเมื่อออกจากงานไม่ทำให้วัตถุประสงค์ของการจ่ายเปลี่ยนแปลงเพราะเป็นเรื่องที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพันในระเบียบเดิมข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงกำหนดให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะเลือกขอรับบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีหรือขอรับเงินบำเหน็จเมื่อออกจากงานเท่านั้น มิได้มีความหมายเลยไปว่าถ้าลูกจ้างจะขอรับเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีไปแล้ว ก็สิ้นความผูกพันที่มีอยู่ตามระเบียบเดิม ทั้งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าคู่กรณีไม่ประสงค์จะใช้ระเบียบเดิมเกี่ยวกับเงินบำเหน็จมาบังคับแก่ลูกจ้างซึ่งขอรับเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี และหากจะถือว่าข้อตกลงดังกล่าวได้ยกเลิกระเบียบเดิมส่วนที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จจะทำให้ลูกจ้างของจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะลูกจ้างซึ่งไม่ได้ขอรับบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีเมื่อออกจากงานอาจไม่ได้รับบำเหน็จหรือได้รับจำนวนเล็กน้อย ซึ่งไม่ตรงตามเจตนาของการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวมิได้ยกเลิกข้อผูกพันซึ่งลูกจ้างมีอยู่ตามระเบียบเดิม แม้โจทก์ทั้งสามสำนวนรับเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีไปแล้วและออกจากงานในภายหลังจำเลยยังมีสิทธิที่จะนำระเบียบเดิมมาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสามสำนวนได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามสำนวนเป็นผู้มีสิทธิได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชย แต่เงินบำเหน็จน้อยกว่าค่าชดเชย จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จคงได้รับแต่ค่าชดเชยอย่างเดียว เงินบำเหน็จที่โจทก์ทั้งสามสำนวนได้รับไปแล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชย ต้องนำมาหักค่าชดเชยซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายตามกฎหมาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสามสำนวนเฉพาะส่วนที่ยังขาดตามคำให้การ

พิพากษาแก้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสามสำนวนตามคำให้การจำเลย

Share