คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3247/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ได้มอบรถยนต์ให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาแต่จำเลยที่ 3 นั้นได้ขายรถยนต์พิพาทให้กับจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4จะรับซื้อรถยนต์พิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่จำเลยที่ 4ก็มิได้ครอบครองรถยนต์พิพาท ดังนั้นเมื่อรถยนต์พิพาทตกอยู่ ในความครอบครองของโจทก์ และโจทก์ได้รถยนต์นั้นโดยมีค่าตอบแทน และได้ครอบครองโดยสุจริต โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1303.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาขายรถยนต์โตโยต้า โคโรล่า ให้แก่โจทก์ในราคา 128,000 บาทโจทก์ชำระราคาในวันทำสัญญา 60,000 บาท ที่เหลือตกลงผ่อนชำระให้จำเลยที่ 1 รวมสองงวด จำเลยที่ 1 ได้มอบรถยยนต์คันดังกล่าวให้โจทก์ครอบครองเพื่อใช้ตั้งแต่วันทำสัญญา โจทก์ได้ชำระราคาให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปโอนทะเบียนเป็นชื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ผัดผ่อน ต่อมาได้หลบหนีไป โจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 3 ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1นำรถคันดังกล่าวไปทำสัญญาขายให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถคันดังกล่าวไป การที่จำเลยที่ 3 โอนขายรถให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปเป็นการแสดงเจตนาลวง เพื่อฉ้อฉลโจทก์ โจทก์เป็นผู้ครอบครองใช้รถตลอดมา ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายรถคันหมายเลขทะเบียน เชียงใหม่ ก-5760 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2527 สัญญาเช่าซื้อรถคันดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม2527 ให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 4 ออกจากทะเบียนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน เชียงใหม่ ก-5760 และใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของแทนภายใน7 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดพิจารณา แต่จำเลยที่ 4 มาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จำเลยที่ 4จะนำพยานเข้าสืบ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนนำรถหมายเลขทะเบียน เชียงใหม่ ก-5760 ของจำเลยที่ 3ไปขายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ได้ขายรถให้แก่จำเลยที่ 4 โดยสุจริตก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาขายรถให้แก่โจทก์ โจทก์กับจำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา เพื่อให้โจทก์ได้รถไปโดยไม่เสียเงิน
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ได้ซื้อรถคันหมายเลขทะเบียนเชียงใหม่ ก-5760 จากจำเลยที่ 3 ไว้โดยสุจริต และให้จำเลยที่ 2เช่าซื้อไป โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 สร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นมาภายหลัง โจทก์หามีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 3กับจำเลยที่ 4 และสัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 2ได้ไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียนเชียงใหม่ ก-5760 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ไปโอนทะเบียนรถคันดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยดังกล่าว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน เชียงใหม่ ก-5760 ของจำเลยที่ 3จากจำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่การาจ แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนรถยนต์ให้โจทก์ภายหลังโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 3 ได้ขายรถยนต์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 4และจำเลยที่ 4 ได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไป ดังนี้ มีปัญหาว่าโจทก์ได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลลยที่ 3 และโจทก์ได้ครอบครองรถยนต์พิพาทหรือไม่ ได้ความจากโจทก์ว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2527 โจทก์เห็นรถยนต์โตโยต้าโคโรล่า สีขาวจอดอยู่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่การาจ โจทก์สอบถามจำเลยที่ 1 แล้วทราบว่ารถยนต์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 นำมาฝากจำเลยที่ 1 ขาย ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2527 โจทก์กับภรรยาได้ตกลงซื้อรถยนต์พิพาทราคา 128,000 บาท รุ่งขึ้นได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์พิพาทกับจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินจำนวน 60,000 บาทในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 2 งวด จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ครอบครองตลอดมา โจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 ครบแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมโอนรถยนต์พิพาทให้โจทก์ ภายหลังทราบจากจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 ขายรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน125,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 มีเงินเพียง 35,000 บาท จึงตกลงให้นำรถยนต์พิพาทไปขายให้จำเลยที่ 4 เป็นเงิน 90,000 บาท แล้วให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 4… ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทไว้จริง แม้จำเลยที่ 4 จะรับซื้อรถยนต์พิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่จำเลยที่ 4 มิได้ครอบครองรถยนต์พิพาท กรณีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4เป็นเรื่องบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกัน โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303ระบุว่าถ้าทรัพย์สินตกอยู่ในความครอบครองของผู้ที่ได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริต ผู้นั้นมีสิทธิดีกว่าผู้อื่น ดังนั้นเมื่อรถยนต์พิพาทตกอยู่ในความครอบครองของโจทก์และโจทก์ได้รถยนต์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทน และได้ครอบครองโดยสุจริตโจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 4…”
พิพากษายืน.

Share