คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4138/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายข้อ 9 ระบุว่า “ข้อ 9 เบี้ยปรับสำหรับการส่งของล่าช้า หากผู้ขายมิได้ส่งมอบของให้แก่ผู้ซื้อได้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาส่งมอบตามที่ระบุไว้ในสัญญาไม่ว่าความล่าช้านั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุใดก็ตาม ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับจากผู้ขายเป็นเงินวันละเศษ 1 ส่วน 5 ของหนึ่งส่วนร้อย (0.2%) ต่อวัน หรือส่วนของวันของราคาตามสัญญาของหน่วยสำเร็จแต่ละหน่วยที่ส่งมอบไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ จนกว่าผู้ขายได้ส่งมอบของให้ได้ครบถ้วนตามสัญญา” และข้อ 11 กำหนดว่า หากผู้ขายละเลยการปฏิบัติอย่างใด ๆ ตามข้อตกลงในสัญญา ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผู้ขายจะต้องรับผิดชอบสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุทำผิดสัญญา นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังจะได้รับ ค่าชดเชยจากเอกสารค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่ ผู้ซื้อถืออยู่ด้วย ดังนี้ ตามสัญญาข้อ 9 เป็นการกำหนด เบี้ยปรับในกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาไม่ส่งมอบของแก่ผู้ซื้อ ให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามสัญญาและผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิ บอกเลิกสัญญากับยอมให้ผู้ขายนำสิ่งของที่ซื้อขายมาส่งมอบต่อไป ผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับรายวันจากผู้ขาย ตามสัญญาข้อ 9 ได้ นับแต่วันครบกำหนดส่งมอบส่งมอบจนถึง วันที่ส่งมอบของแก่ผู้ซื้อครบถ้วนตามสัญญา จำเลยที่ 1 ผู้ขายไม่ส่งมอบของแก่โจทก์ผู้ซื้อเลยและโจทก์ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาตามสัญญาซื้อขายข้อ 11 ไปแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับรายวันจากจำเลยที่ 1ตามสัญญาซื้อขายข้อ 9 ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายสินค้าให้โจทก์รวม 3 รายการ เป็นเงิน 230,088.72 บาท กำหนดส่งมอบภายในวันที่10 พฤศจิกายน 2529 โดยมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้โจทก์มีสิทธิริบเงินตามหนังสือค้ำประกัน และหากจำเลยที่ 1ล่าช้ามิส่งมอบของให้โจทก์ครบถ้วนตามกำหนด โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าจนกว่าจะส่งของให้ครบถ้วน หากล่าช้าเกินกว่า 50 วัน โจทก์อาจบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายใด ๆ นอกเหนือจากเบี้ยปรับและหากจำเลยที่ 1 ละเลยการปฏิบัติการอย่างใด ๆ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดสำหรับความเสียหายและโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากเอกสารค้ำประกันที่โจทก์ถืออยู่ด้วย โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงิน 26,391 บาท แทนจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ส่งมอบสินค้าภายในกำหนดโจทก์ได้มีคำเตือนแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2530 และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 นำเงินค้ำประกันจำนวน 26,391 บาท ไปชำระให้โจทก์ภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 เช่นกัน ต่อมาโจทก์ก็มีหนังสือเตือนให้จำเลยทั้งสองนำเงินไปชำระให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 59,840.25 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 57,683.07 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 27,377.95 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ได้นำสินค้าส่งให้โจทก์แล้วแต่เกิดเหตุสุดวิสัย สินค้าถูกเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไม่ให้ผ่านพิธีการด้านศุลกากรโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไม่สุจริต จำเลยที่ 1 ขอส่งมอบสินค้าให้โจทก์ในวันที่ 26 มกราคม 2530 แล้วแต่โจทก์ไม่ยอมรับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกค่าปรับและริบหลักประกันจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 26,391 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 986.95 บาท ทั้งนี้โดยให้โจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน หากได้ไม่ครบถ้วนจึงให้บังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2529 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์รวม 3 รายการ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันกำหนดส่งมอบของภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2529 จำเลยที่ 1ไม่สามารถส่งของให้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนด โจทก์มีหนังสือเตือนและเร่งรัดไปหลายครั้ง หลังจากล่วงเลยกำหนดเวลาส่งของแล้วโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 13 มกราคม 2530 เตือนให้จำเลยที่ 1ส่งขอให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 มกราคม 2530 มิฉะนั้นจะบอกเลิกสัญญาและดำเนินการปรับ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ส่งของให้ได้โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 26 มกราคม 2530 บอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2530 เป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 1 นำเงินค้ำประกันและค่าปรับไปชำระภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 แจ้งให้จำเลยที่ 2ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันภายในกำหนดเวลาเดียวกัน จำเลยทั้งสองรับหนังสือดังกล่าวแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิที่จะปรับเป็นรายวันในอัตราศูนย์จุดสองเปอร์เซ็นต์ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันครบกำหนดส่งมอบตามสัญญาจนถึงวันบอกเลิกสัญญาจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายข้อ 9 อีกหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว สัญญาซื้อขายข้อ 9 กำหนดว่า”ข้อ 9 เบี้ยปรับสำหรับการส่งของล่าช้า หากผู้ขายมิได้ส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อได้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาส่งมอบตามที่ระบุไว้ในสัญญาไม่ว่าความล่าช้านั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุใดก็ตาม นอกจากความล่าช้าหรือความผิดพยานเกิดขึ้นเนื่องมาแต่เหตุสุดวิสัยดังระบุไว้ในหมวด 9 และ 10 แห่งเงื่อนไขทั่วไปของสัญญาตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญา ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับจากผู้ขายเป็นเงินวันละเศษ 1 ส่วน 5ของหนึ่งส่วนร้อย (0.2%) ต่อวันหรือส่วนของวันของราคาตามสัญญาของหน่วยสำเร็จแต่ละหน่วยที่ส่งมอบไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ จนกว่าผู้ขายได้ส่งมอบของให้ได้ครบถ้วนตามสัญญา” และข้อ 11 กำหนดว่า หากผู้ขายละเลยการปฏิบัติการอย่างใด ๆ ตามข้อตกลงในสัญญาผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผู้ขายจะต้องรับผิดชอบสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุทำผิดสัญญานอกจากนี้ ผู้ซื้อยังจะได้รับค่าชดเชยจากเอกสารค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่ผู้ซื้อถืออยู่ด้วยศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาซื้อขายข้อ 9 ดังกล่าวเป็นการกำหนดเบี้ยปรับในกรณีที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขายผิดสัญญามิได้ส่งมอบของให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามสัญญา และโจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้ขายนำสิ่งของที่ซื้อขายกันตามสัญญามาส่งมอบให้แก่โจทก์ผู้ซื้อต่อไปโจทก์ในฐานะผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 ผู้ขายเป็นรายวันได้ในอัตราร้อยละศูนย์จุดสอง (0.2%)ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้ส่งมอบ นับแต่วันครบกำหนดส่งมอบตามสัญญาจนถึงวันที่ได้ส่งมอบของให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบของให้แก่โจทก์เลย และโจทก์ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาไปแล้วตามสัญญาซื้อขายข้อ 11 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับรายวันจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 9 ได้อีก
พิพากษายืน

Share