คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 969/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 รวมกันมา โดยโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดถึงแก่ความตาย และบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับอันตรายสาหัส และโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดถึงแก่ความตายและบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับอันตรายสาหัส แต่ก็เป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 แต่ละฐานความผิดโดยถือเป็นคู่ความคนละฝ่ายต่างคนต่างทำ มิใช่ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ฉะนั้น คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ยืนยันว่า จำเลยที่ 12 และที่ 13 กับพวกใช้อาวุธปืนคนละกระบอกยิงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่บ้านของผู้เสียหายในวันเกิดเหตุ จึงไม่ใช่คำซัดทอดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงนำมารับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และพยานหลักฐานของจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 288, 290, 294, 297, 299, 362, 364, 365 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 11 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 397/2553 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 11 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 294 วรรคแรก, 299 วรรคแรก, 362, 364, 365 (1) (2) (ที่ถูกมาตรา 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 364) ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นกับฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 10 ปี ฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดถึงแก่ความตายและฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 คนละ 10 ปี 18 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษของจำเลยที่ 11 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 397/2553 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 14 ริบของกลาง
จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยที่ 11 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 11
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 วรรคแรก และมาตรา 299 วรรคแรก คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ในข้อหาอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคนละ 10 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 12 และที่ 13 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า วันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันสงกรานต์ เวลา 16 นาฬิกา ขณะที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 กับพวกนั่งดื่มเบียร์อยู่บริเวณใต้ถุนบ้านของนางหล่ำ ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 กับพวกขับรถจักรยานยนต์และนั่งซ้อนท้ายกันมาไปจอดที่หน้าร้านของนายอยู่และนางสงบ ซึ่งอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้ามบ้านของผู้เสียหาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 กับพวกเข้าต่อสู้กัน เป็นเหตุให้นายเอกรัตน์ พวกของจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ได้รับบาดเจ็บมีรอยช้ำที่สีข้างยาวประมาณ 10 เซนติเมตร รอยถลอกที่แขนซ้ายด้านบน 5 เซนติเมตร เป็นบาดแผลถูกกระแทกด้วยของแข็งทำให้อวัยวะภายในช่องท้องมีโลหิตถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ ส่วนจำเลยที่ 11 มีบาดแผลถูกฟันที่ศีรษะและหน้าผาก 4 แผล ถูกฟันที่ข้อศอกซ้าย กระดูกแขนซ้ายหัก กระดูกนิ้วมือข้างขวาหัก 1 นิ้ว ได้รับอันตรายสาหัส ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 14 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 14 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 11 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษามีผลไปถึงจำเลยที่ 11 ด้วย โจทก์และจำเลยที่ 11 ไม่ฎีกา คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 11 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่จำเลยที่ 12 และที่ 13 ฎีกาในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เห็นว่า ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 12 และที่ 13 กระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน ฉะนั้นโทษแต่ละกระทงจึงไม่เกินห้าปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 12 และที่ 13 ว่า จำเลยที่ 12 และที่ 13 ร่วมกับจำเลยที่ 11 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน ทั้งต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 12 และที่ 13 มาก่อน จึงย่อมไม่มีมูลเหตุที่พยานโจทก์จะแกล้งเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 12 และที่ 13 เชื่อว่าต่างเบิกความไปตามความจริง ถึงแม้พยานโจทก์จะไม่ได้ระบุว่าวัยรุ่น 3 คน ที่ใช้อาวุธปืน 3 กระบอกยิงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ใต้ถุนบ้านของผู้เสียหายคือ จำเลยที่ 12 และที่ 13 แต่ก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุนอกจากพยานโจทก์ซึ่งเห็นเหตุการณ์แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ก็เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุด้วยเช่นเดียวกัน หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ได้เข้ามอบตัวต่อร้อยตำรวจเอกธเนศพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การในชั้นสอบสวนยืนยันว่า จำเลยที่ 11 ใช้อาวุธปืนลูกซองสั้น จำเลยที่ 12 ใช้อาวุธปืนปากกา และจำเลยที่ 13 ใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 คนละ 1 นัด ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 11 และที่ 13 ใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างรู้จักและเคยเห็นหน้าจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 มาก่อนและจำเลยที่ 3 รู้จักจำเลยที่ 11 และที่ 13 ตามคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งถึงแม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 รวมกันมา โดยโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดถึงแก่ความตาย และบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับอันตรายสาหัส และโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดถึงแก่ความตายและบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับอันตรายสาหัส แต่ก็เป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 แต่ละฐานความผิดโดยถือเป็นคู่ความคนละฝ่ายต่างคนต่างทำ มิใช่ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ฉะนั้นคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ยืนยันว่า จำเลยที่ 12 และที่ 13 กับพวกใช้อาวุธปืนคนละกระบอกยิง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่บ้านของผู้เสียหายในวันเกิดเหตุจึงไม่ใช่คำซัดทอดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงนำมารับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และพยานหลักฐานของจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ไม่ได้กระทำความผิดเนื่องจากจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 เป็นฝ่ายใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ก่อนอันเป็นการกระทำละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ย่อมมีสิทธิป้องกันโดยเข้าต่อสู้กับจำเลยที่ 12 และที่ 13 กับพวก เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 12 และที่ 13 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ได้อีก ต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 โดยเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงเป็นอันฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายในความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 12 และที่ 13 กับพวกฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ดังนั้น ศาลย่อมนำคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมีเนื้อถ้อยใจความตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ลงโทษจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้ ประกอบกับหลังเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกธเนศพนักงานสอบสวนตรวจยึดได้เม็ดตะกั่ว แว่นกระดาษ ชิ้นส่วนกระสุนปืนลูกซองและหมอนรองกระสุนปืนตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเป็นของกลางและยังตรวจพบร่องรอยกระสุนปืนที่เสาบ้านบริเวณใต้ถุนบ้านของผู้เสียหายอันเป็นข้อแสดงว่า มีวัยรุ่นได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายในวันเกิดเหตุจริง คดีเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 12 และที่ 13 คือวัยรุ่นที่ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่บ้านของผู้เสียหายในวันเกิดเหตุ ที่จำเลยที่ 12 และที่ 13 นำสืบต่อสู้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 12 ขับรถจักรยานยนต์มีผู้ตายนั่งซ้อนท้ายไปที่หมู่บ้านห้วยลาน โดยผู้ตายบอกกับจำเลยที่ 12 ว่า จะพาไปรับประทานไก่ต้มที่บ้านเพื่อน ส่วนจำเลยที่ 13 ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 14 นั่งซ้อนท้ายไปที่บ้านนายอยู่ลุงของจำเลยที่ 13 เพื่อเอาไก่มาต้มรับประทาน เมื่อจำเลยที่ 13 ขับรถไปถึงบ้านนายอยู่เห็นจำเลยที่ 11 ถูกจำเลยที่ 1 กับพวกรุมทำร้าย จึงเข้าไปห้าม จำเลยที่ 1 กับพวกจึงทำร้ายจำเลยที่ 12 และที่ 13 นั้น เห็นว่า เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยที่ 12 และที่ 13 ย่อมง่ายแก่การกล่าวอ้าง ทั้งคำเบิกความของจำเลยที่ 12 และที่ 13 ยังขัดแย้งแตกต่างจากเบิกความของจำเลยที่ 11 ซึ่งเบิกความว่า ขณะจำเลยที่ 11 ถูกรุมทำร้ายไม่เห็นจำเลยที่ 12 และที่ 13 กับพวกในบริเวณที่เกิดเหตุ จึงมีข้อพิรุธไม่อาจรับฟังเอาความจริงจากจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 12 และที่ 13 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 12 และที่ 13 ร่วมกับจำเลยที่ 11 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 12 และที่ 13 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share