แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2485 มาตรา 63นั้นผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือนที่ถูกฟ้องคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดลหุโทษหรือประมาท ให้ออกจากราชการได้ในขณะที่ข้าราชการผู้นั้นกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีอาญา หรือระหว่างการสอบสวนเรื่องทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ออกจากราชการได้โดยไม่ต้องตั้งกรรมการดำเนินการสอบสวนเสียก่อน
ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา63(ก) นั้น ผู้บังคับบัญชาไม่ต้องสั่งใหม่ในเมื่อการพิจารณาคดีหรือการสอบสวนได้ความว่าข้าราชการผู้นั้นไม่มีความผิด แต่ถ้าศาลพิพากษาว่าข้าราชการผู้นั้นมีความผิดหรือการสอบสวนได้ความเป็นสัจที่จะต้องไล่ออกหรือปลดออก ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นไล่ออกหรือปลดออกให้ตรงตามบทบัญญัติแห่งวินัยข้าราชการพลเรือนอีกครั้งหนึ่ง การสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 63(ก)นั้น เป็นการสั่งให้พ้นจากราชการไปเลย และคำสั่งนี้คงมีผลตลอดไป เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ไล่ออกหรือปลดออกตามความในมาตรา 63(ก) ตอนท้ายเท่านั้น (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16-17/2507)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์รับราชการในกรมสหกรณ์กระทรวงเกษตราธิการได้รับเงินเดือน ๆ ละ 1,060 บาท ต่อมากรมสหกรณ์สถาปนาขึ้นเป็นกระทรวงสหกรณ์ และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนนามเป็นกระทรวงเกษตร ตำรวจได้จับกุมโจทก์ในข้อหากบฏเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2492 ศาลอาญาได้พิพากษาปล่อยตัวโจทก์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2495 คดีถึงที่สุด
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2492 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งที่ 32/2492 ซึ่งสั่งตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 มาตรา 63 ให้โจทก์พักราชการตั้งแต่วันถูกจับ คำสั่งของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้ถูกฟ้อง
ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งที่ 45/2493 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2493 สั่งตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 มาตรา 63(ก), 43(ก) ให้โจทก์ออกจากราชการฐานมีมลทินมัวหมอง ตั้งแต่วันสั่งเป็นต้นไป คำสั่งของจำเลยนี้เป็นโมฆะ และศาลอาญายังมิได้พิพากษาคดีของโจทก์
เมื่อศาลอาญาได้พิพากษาปล่อยโจทก์แล้ว จำเลยยังไม่ยอมให้โจทก์กลับเข้ารับราชการ โจทก์จึงยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์คณะกรรมการ ฯ เห็นว่าควรดำเนินการให้โจทก์คืนสู่ฐานะข้าราชการตามเดิม นายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้กระทรวงสหกรณ์จำเลยที่ 1 ดำเนินการต่อไป
จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ แต่คณะกรรมการหาได้เรียกโจทก์ไปสอบสวนและให้โอกาสโจทก์อ้างพยานหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ไม่ แล้วจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 27/2504 ให้โจทก์ออกจากราชการ คำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นคำสั่งย้อนหลังให้โจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2493 และรับรองคำสั่งของจำเลยที่ 45/2493 ซึ่งเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ แล้วให้กลับเป็นคำสั่งที่สมบูรณ์ตามกฎหมายขึ้นใหม่อีก คำสั่งที่ 27/2504 นี้จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจสั่งได้ เพราะโจทก์ไม่เคยถูกกล่าวหาสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 ที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น
คำสั่งของจำเลยดังกล่าวแล้ว เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 347,742.50 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี
จำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งของจำเลยไม่ละเมิดสิทธิของโจทก์และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย และตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ
วันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกัน และทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำสั่งเจ้ากระทรวงเกษตราธิการที่ 45/2493และคำสั่งกระทรวงสหกรณ์ที่ 27/2504 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าสินไหมทดแทนและอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งที่ 45/2493 เป็นคำสั่งที่ให้ออกจากราชการโดยเด็ดขาด ข้อที่จะพิจารณาต่อไปมีว่า คำสั่งที่สั่งให้ออกจากราชการโดยเด็ดขาดนั้นจะสั่งโดยไม่มีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนเสียก่อนได้หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จะสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการการสอบสวนตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน มาตรา 43, 63 เมื่อไม่ได้ตั้งกรรมการสอบสวนจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ที่ 27/2504 ซึ่งสั่งให้โจทก์ออกจากราชการอีกครั้งหนึ่ง มีขึ้นภายหลังที่คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์วินิจฉัยว่า คำสั่งให้พักราชการและให้ออกจากราชการที่สั่งไว้แต่เดิมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าสังกัดพิจารณาดำเนินการต่อไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ว่า ควรจะให้โจทก์เข้ารับราชการหรือควรตั้งกรรมการสอบสวนใหม่ จำเลยที่ 1 ได้ตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นคณะหนึ่ง คณะกรรมการเห็นว่า โจทก์มีมลทินมัวหมอง จำเลยที่ 1 จึงสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านว่าคำสั่งฉบับนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการดำเนินการสอบสวนไม่ชอบ เรื่องนี้ปรากฏว่าได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนแล้วแต่กรรมการสอบสวนได้ปฏิบัติการสอบสวนหรือไม่ ข้อนี้จำเลยแถลงรับว่ากรรมการไม่ได้เรียกโจทก์ไปสอบปากคำ โจทก์ขออ้างสำนวนการสอบสวนจำเลยแถลงว่าไม่มีสำนวนจะส่งให้ เมื่อจำเลยแถลงว่าไม่มีสำนวนสอบสวนส่งให้เช่นนี้ ก็เท่ากับแสดงว่าไม่มีการสอบสวนดังจำเลยกล่าวอ้างเมื่อไม่มีการสอบสวน ก็ไม่เกิดผลที่ถูกต้องตามกฎหมายอันจะทำให้โจทก์ต้องออกจากราชการเมื่อคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินค่าทดแทนให้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับที่ให้โจทก์ออกจากราชการนั้นได้ปฏิบัติการชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาได้ความว่า คำสั่งฉบับแรกที่สั่งให้โจทก์ออกจากราชการ คือ คำสั่งที่ 45/2493 ของกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 มาตรา 63(ก) และ 43(ก) นั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนถูกฟ้องคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดลหุโทษหรือฐานประมาท และในกรณีถูกสอบสวนเรื่องทำผิดวินัยร้ายแรงนั้น มาตรา 63 บัญญัติว่า ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าจะให้คงอยู่ในราชการระหว่างพิจารณาหรือสอบสวน จะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ก็ให้พิจารณาปฏิบัติได้ 2 อย่างคือ 1 ถ้าเห็นว่ามีมลทินหรือมัวหมอง จะสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 43(ก) ไว้ก่อนก็ได้ 2 ถ้าเห็นว่ามลทินหรือความมัวหมองไม่ปรากฏชัด จะสั่งได้แต่เพียงให้พักราชการ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในวรรคแรกของมาตรา 63 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้บังคับบัญชาที่ข้าราชการผู้นั้นสังกัด เห็นว่าจะให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการระหว่างพิจารณาหรือสอบสวน จะเป็นการเสียหายแก่ราชการ” นั้น เป็นข้อความที่แสดงอยู่ในตัวว่า ให้มีการพิจารณาสั่งการตามความในมาตรานี้ได้ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลหรือระหว่างการสอบสวนเรื่องทำผิดวินัยร้ายแรง นอกจากนี้ วรรคท้ายของข้อ (ข) ก็บัญญัติอยู่ว่า การให้พักราชการนั้น ให้พักตลอดเวลาที่สอบสวนพิจารณา และระบุว่า เมื่อสอบสวนพิจารณาแล้วปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักมิได้กระทำความผิด ก็ให้พิจารณาสั่งต่อไปดังที่ระบุไว้ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความในวรรคนี้แสดงโดยชัดแจ้งว่า การสั่งพักราชการนั้นเป็นการสั่งในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาหรือระหว่างการสอบสวนเรื่องทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ข้อความในวรรคนี้จึงเป็นการสนับสนุนให้เห็นความหมายของวรรคแรกแห่งมาตรา 63 อีกชั้นหนึ่งว่าเป็นเรื่องสั่งระหว่างการพิจารณาคดีอาญาหรือระหว่างการสอบสวนเรื่องทำผิดวินัยร้ายแรง
มาตรา 63 ไม่ได้บัญญัติว่า การมีคำสั่งตามมาตรานี้ จะต้องตั้งกรรมการดำเนินการสอบสวนเสียก่อน ดังบัญญัติไว้ในมาตราอื่นเช่น มาตรา 61, 62 ถ้าหากถือว่าจะต้องมีการสอบสวนทำนองเดียวกับมาตรา 61, 62 เสียก่อนแล้ว ก็จะมีการดำเนินการสอบสวนซ้อนการสอบสวนซึ่งกฎหมายไม่น่าจะมีความประสงค์เช่นนั้น มาตรา 63(ก) บัญญัติท้าวความถึงมาตรา 43(ก) มาตรา 43(ก) บัญญัติถึงการสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการในกรณีที่ต้องหาว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไว้ว่า ได้ดำเนินการสอบสวนพิจารณาตามมาตรา 61 แล้ว การสอบสวนพิจารณาตามมาตรา61 ก็คือ ข้าราชการถูกหาว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอันมีโทษถึงไล่ออก มาตรานี้บัญญัติให้ผู้มีอำนาจดังระบุไว้ ตั้งกรรมการอย่างน้อยสามนายดำเนินการสอบสวนแล้วทำรายงานการสอบสวน ฉะนั้นการสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 43(ก) จึงเป็นการสั่งเมื่อได้ดำเนินการสอบสวนกรณีที่ต้องหาว่าทำผิดวินัยโทษถึงไล่ออกจนเสร็จสิ้นและมีการพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้วว่า ไม่ได้ความว่ากระทำความผิดฉะนั้น ถ้าหากการสั่งตามมาตรา 63(ก) ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา43(ก) ที่ว่า ได้มีการสอบสวนหรือพิจารณาความผิดมาแล้ว ก็ไม่อาจมีการพิจารณาสั่งการในระหว่างสอบสวนตามข้อความในวรรคแรกได้ ฉะนั้นศาลฎีกาจึงเห็นว่าคำสั่งที่ 45/2493 ของกระทรวงเกษตราธิการเป็นคำสั่งตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
มาตรา 63 ได้บัญญัติไว้ให้ดำเนินการภายหลังที่ได้สั่งให้ออกจากราชการ กับภายหลังที่ได้สั่งพักราชการไว้ต่างกัน กล่าวคือ ในกรณีที่สั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 63(ก) นั้น กฎหมายระบุว่าถ้าภายหลังศาลพิพากษาว่ามีความผิดหรือสอบสวนพิจารณาได้ความเป็นสัจที่จะต้องลงโทษไล่ออกหรือปลดออก ก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเป็นไล่ออกหรือปลดออกให้ตรงตามบทวินัยแห่งพระราชบัญญัติอีกครั้งหนึ่งส่วนกรณีสั่งพักราชการตามมาตรา 63(ข) นั้น ระบุว่า ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการมิได้กระทำความผิด และไม่มีมลทินความผิดเลยผู้บังคับบัญชาที่สั่งพัก ต้องสั่งให้ผู้นั้นกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมถ้าปรากฏว่าไม่ได้ความเป็นสัจว่า ผู้นั้นได้กระทำความผิด แต่ก็มีมลทินมัวหมองอยู่ ก็อาจสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการได้ตามข้อบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าในกรณีสั่งพักราชการตามมาตรา 63(ข) นั้น เมื่อการพิจารณาหรือการสอบสวนปรากฏว่า ผู้ถูกสั่งพักมิได้กระทำผิดแล้วผู้บังคับบัญชาต้องสั่งให้กลับคืนตำแหน่งเดิม หรือสั่งให้ออกจากราชการ ส่วนกรณีสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 63 (ก) นั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งใหม่ในเมื่อการพิจารณาหรือการสอบสวนได้ความว่าไม่มีความผิด คงบัญญัติไว้ให้มีคำสั่งใหม่เฉพาะกรณีที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด และกรณีที่การสอบสวนได้ความเป็นสัจที่จะต้องไล่ออกหรือปลดออกเท่านั้น ฉะนั้น ในกรณีสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 63(ก) จึงเป็นการสั่งให้พ้นจากราชการไปเลย และคำสั่งนั้นก็คงมีผลตลอดไป เว้นไว้แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ไล่ออกหรือปลดออกตามความในมาตรา 63(ก) ตอนท้าย อนึ่ง มาตรา 63(ก) ซึ่งมีผลให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการพ้นจากราชการตลอดไปในกรณีที่การพิจารณาหรือการสอบสวนปรากฏว่าผู้นั้นไม่ได้กระทำผิดนั้นก็ไม่ใช่ว่าเป็นการให้ออกจากราชการโดยไม่มีมูลที่จะสั่งให้ออกจากราชการ แต่เป็นการสั่งให้ออกโดยมีมูลให้ออกจากราชการตามกฎหมายนั่นเอง กล่าวคือ ก่อนที่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 63(ก) ผู้บังคับบัญชาก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีมลทินมัวหมองส่วนการพิจารณาหรือการสอบสวนไม่ได้ความว่าผู้นั้นกระทำผิด ก็ไม่ใช่เป็นข้อแสดงว่าผู้นั้นไม่มีมลทินหรือมัวหมอง แม้แต่ในกรณีสั่งพักราชการโดยมีมลทินหรือความมัวหมองไม่ปรากฏชัด เมื่อการพิจารณาหรือสอบสวนปรากฏว่าผู้นั้นไม่มีความผิด กฎหมายก็ยังให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ออกจากราชการได้ เมื่อเห็นว่าผู้ถูกสั่งพักมีมลทินหรือมัวหมอง และการให้เข้ารับราชการอีกจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ฉะนั้นในคดีเรื่องนี้แม้ผู้บังคับบัญชาจะมิได้มีคำสั่งภายหลังที่ศาลยกฟ้องคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องแล้ว ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย ศาลฎีกาได้พร้อมกันประชุมใหญ่พิจารณาแล้ว เห็นว่าจำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงปัญหาอื่นต่อไป
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น