แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในภายหลัง แสดงว่าบริษัทดังกล่าวได้ให้สัตยาบันการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศไทยแล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย มีอำนาจฟ้องผู้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันว่า FRITOS อ่านว่าไฟรทอสหรือฟรีโดส์หรือฟรีโตส์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมันว่า FREEDOS อ่านว่า ฟรีโดส์ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยตัวอักษรโรมัน 6 ตัว ส่วนของจำเลยมี 7 ตัวแต่ซ้ำกันกับของโจทก์ถึง 4 ตัว คือ F,R,O,S, ตัวอักษรเครื่องหมายการค้าของจำเลย จึงมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนการออกเสียงนั้นแม้คำของโจทก์จะสามารถอ่านออกเสียงได้หลายอย่าง ส่วนของจำเลยอ่านออกเสียงได้อย่างเดียว แต่ก็มีเสียงเพียง 2 พยางค์เกือบเหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ ทำให้สาธารณชนหลงผิดสับสนได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า FRITOS อ่านว่า ไฟรทอสฟรีโดส์ หรือฟรีโดส์ แปลไม่ได้เป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกเมื่อปี 2476 และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และต่อมาได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนให้ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า FREEDOS อ่านว่า ฟรีโดส์ในจำพวกสินค้าประเภทเดียวกับโจทก์เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันอาจทำให้สาธารณชนผู้ซื้อสับสนหลงผิดโดยเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ซึ่งทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า FRITOS ดีกว่าจำเลย และขอให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า FREEDOSหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและสั่งห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า คำดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยและให้จำเลยทำลายเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวซึ่งปรากฏบนสินค้าจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของรูปประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า FRITOS จำเลยมิได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ไม่เคยผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจำหน่ายในท้องตลาด เพียงแต่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เพื่อขัดสิทธิของผู้อื่นเท่านั้น นอกจากนี้รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าคำว่า FRITOS กับคำว่า FREEDOSแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และยังมีสำเนียงเรียกขานต่างกันโดยสิ้นเชิงเนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์อ่านออกเสียงว่า ไฟรทอสส่วนของจำเลยอ่านออกเสียงว่า ฟรีโดส์ จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดสับสนในเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจซึ่งบริษัทฟรีโตเลย์อิงค์ มอบอำนาจให้บริษัทโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหลังจากโจทก์ ฟ้องคดีนี้จึงถือว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์ยังมิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้องโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวคำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทฟรีโตเลย์อิงค์ เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำว่า FRITOS จดทะเบียนไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2476 บริษัทดังกล่าวเป็นเครือเดียวกับบริษัทโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวในประเทศไทย เมื่อปี 2524 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ออกหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนให้โจทก์ เมื่อปี 2525 และต่อมาเมื่อปี2530 บริษัทดังกล่าวได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวได้ในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆทั่วโลก จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรคำว่าFREEDOS ในจำพวกสินค้าประเภทเดียวกับโจทก์ เมื่อวันที่ 22เมษายน 2529 แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 บัญญัติว่าถ้าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องมีหนังสือมอบฉันทะแสดงว่าผู้ขอมีอำนาจจดทะเบียนได้แนบมากับคำขอด้วยการที่บริษัทฟรีโตเลย์อิงค์ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในภายหลัง แสดงว่าบริษัทดังกล่าวได้ให้สัตยาบันการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วโจทก์จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวในประเทศไทยมีอำนาจฟ้องผู้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้เครื่องหมายการค้า คำว่า FREEDOS ของจำเลยกับเครื่องหมายการค้าคำว่า FRITOS ของโจทก์ต่างก็เป็นคำในอักษรโรมันอ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์เหมือนกันคือ FREE กับ FRI พยางค์หนึ่ง และ DOSกับ TOS อีกพยางค์หนึ่งแม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปประดิษฐ์เป็นตัวอักษร F สองตัว หันหลังชนกันอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม และมีคำภาษาไทยกำกับว่า ฟรีโดส์ แต่เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำน่าจะมีสาระสำคัญอยู่ที่การอ่านออกเสียงหรือสำเนียงเรียกขานมากกว่าอย่างอื่น เครื่องหมายการค้า คำว่า FREEDOS ของจำเลยซึ่งอ่านว่าฟรีโดส์ นั้น มีสำเนียงใกล้เคียงหรือเกือบเหมือนกับเสียงอ่านเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คือคำว่า ฟรีโดส์ หรือ ฟรีโตส์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยตัวอักษรโรมัน 6 ตัว ส่วนของจำเลยมี 7 ตัว แต่ซ้ำกันกับของโจทก์ถึง 4 ตัว คือ F, R, O และ Sตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนการอ่านออกเสียงนั้นแม้คำของโจทก์จะสามารถอ่านออกเสียงได้หลายอย่าง ส่วนคำของจำเลยอ่านออกเสียงได้อย่างเดียว แต่ก็มีเสียงเกือบเหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์คือคำว่า ฟรีโดส์ ของจำเลยกับ คำว่า ฟรีโตส์ หรือฟรีโดส์ของโจทก์ ถือได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า FREEDOS ของจำเลยมีลักษณะตัวอักษรและการอ่านออกเสียงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า คำว่า FRITOS ของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน