คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 968/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บริษัทฟ.เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า FRITOS จดทะเบียนไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2476 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายนี้ในประเทศไทย เมื่อปี 2524 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ได้ออกคู่มือรับจดทะเบียนให้โจทก์ในปี 2525 ต่อมาปี 2530 บริษัทฟ. ได้ทำหนังสือมอบฉันทะให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกแสดงว่า บริษัทฟ. ได้ให้สัตยาบันการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยมีอำนาจฟ้องผู้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ เครื่องหมายการค้าคำว่า FREEDOS ของจำเลยและเครื่องหมายการค้าคำว่า FRITOS ของโจทก์ ต่างก็เป็นคำอักษรโรมัน อ่านออกเสียงสองพยางค์เหมือนกัน แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลย จะมีรูปประดิษฐ์เป็นตัวอักษร F สองตัว หันหลังชนกันในกรอบสี่เหลี่ยมและมีภาษาไทยกำกับว่า ฟรีโดส์ แต่เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำน่าจะมีสาระสำคัญอยู่ที่การอ่านออกเสียง หรือสำเนียงเรียกขานมากกว่าอย่างอื่น เครื่องหมายการค้าของจำเลยอ่านว่า ฟรีโดส์ มีสำเนียงใกล้เคียง หรือเกือบเหมือนกับเสียงอ่านเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า ฟรีโดส์หรือฟรีโตส์ อีกทั้งเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยตัวอักษรโรมัน 6 ตัว ส่วนของจำเลยมี 7 ตัว แต่ปรากฏว่ามีซ้ำกันถึง 4 ตัว จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้า คำว่า FREEDOS ของจำเลยมีลักษณะตัวอักษรและการอ่านออกเสียง เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า คำว่า FRITOS ของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มอบอำนาจให้นายธเนศ เปเรร่าฟ้องคดีแทน โจทก์เป็นเจ้าของและผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า FRITOS อ่านว่า ไฟรทอส ฟรีโดส์ หรือฟรีโดส์ แปลไม่ได้ เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกอาหารว่างสำเร็จรูป เช่น ข้าวโพดแผ่น จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกเมื่อปี 2476 และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และต่อมาได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังกล่าวในประเทศไทย ตามภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมายเลข 3 และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนให้ตามเอกสารหมายเลข 4 ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า FREEDOS อ่านว่า ฟรีโดส์ เมื่อวันที่ 22เมษายน 2529 ในจำพวกสินค้าประเภทเดียวกับโจทก์ โจทก์จึงได้ยื่นคำคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ยกคำคัดค้านของโจทก์และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันอาจทำให้สาธารณชนผู้ซื้อสนับสนุนหลงผิดโดยเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ซึ่งทำให้โจทก์เสียหาย ขาดประโยชน์ในทางทำมาหาได้ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 50,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า FRITOS ดีกว่าจำเลย และขอให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า FREEDOS หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและสั่งห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยและให้จำเลยทำลายเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวซึ่งปรากฏบนสินค้าจำเลยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ไม่รับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์และการมอบอำนาจให้นายธเนศ เปเรร่า ทำการต่าง ๆ แทนโจทก์ โจทก์มิได้เป็นเจ้าของรูปประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าFRITOS อ่านไฟรทอส และได้ใช้กับสินค้าอาหารว่างสำเร็จรูปซึ่งผลิตจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและสินค้าของโจทก์ก็ไม่ได้มีการโฆษณาและจำหน่ายโดยแพร่หลายแต่อย่างใด จำเลยมิได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าคำว่าFRITOS อ่านว่า ไฟรทอส ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ไม่เคยผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจำหน่ายในท้องตลาดเพียงแต่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เพื่อขัดสิทธิของผู้อื่นเท่านั้นนอกจากนี้รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าคำว่า FRITOS กับคำว่าFREEDOS แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และยังมีสำเนียงเรียกขานต่างกันโดยสิ้นเชิงเนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างออกเสียงว่าไฟรทอส ส่วนของจำเลยอ่านออกเสียว่า ฟรีโดส์ จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดสับสนในเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.10แผ่นที่ 4 ซึ่งบริษัทฟรีโต-เลย์ อิงค์ มอบอำนาจให้บริษัทโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า FRITOS ลงวันที่ 1 กรกฎาคม2530 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2530 จึงถือว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ยังมิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บริษัทโจทก์เป็นเครือเดียวกับบริษัทฟรีโต-เลย์ อิงค์ โจทก์มีอำนาจขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า FRITOS ในประเทศไทยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเครื่องหมายการค้า คำว่า FREEDOS ของจำเลยมีลักษณะเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้า คำว่า FRITOS ของโจทก์ โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย แต่ไม่สมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ พิพากษากลับให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่าFRITOS ตามคำขอเลขที่ 118737 ดีกว่าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 155174ให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า FREEDOSตามคำขอเลขที่ 155174 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวกับสินค้าของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกจำเลยฎีกาว่าบริษัทฟรีโต-เลย์-อิ้ง ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำว่าFRITOS ได้มอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวภายหลังโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้แล้ว ดังนั้นในขณะยื่นฟ้องโจทก์จึงยังไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องพยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า บริษัทฟรีโต-เลย์ อิงค์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำว่า FRITOS จดทะเบียนไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2476 ตามเอกสารหมาย จ.9 บริษัทดังกล่าวเป็นเครือเดียวกับบริษัทโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวในประเทศไทย เมื่อปี 2524นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ออกหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนให้โจทก์ เมื่อปี 2525 ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ต่อมาเมื่อปี 2530 บริษัทดังกล่าวได้ทำหนังสือมอบฉันทะให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวได้ในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกตามเอกสารหมาย จ.10 เห็นว่า ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 บัญญัติว่า ถ้าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องมีหนังสือมอบฉันทะแสดงว่าผู้ขอมีอำนาจจดทะเบียนได้แนบมากับคำขอด้วย การที่บริษัทฟรีโต-เลย์ อิ้งค์ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในภายหลังแสดงว่าบริษัทดังกล่าวได้ให้สัตยาบันการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวในประเทศไทยมีอำนาจฟ้องผู้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประการต่อไปจำเลยฎีกาว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า FREEDOSของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า คำว่า FRITOSของโจทก์ และสำเนียงเรียกขานในภาษาไทยก็แตกต่างกัน ศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำ ต่างก็เป็นคำในอักษรโรมันอ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์ เหมือนกันคือ FREE กับ FRI พยางค์หนึ่ง และ DOS กับ TOS อีกพยางค์หนึ่ง แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลย จะมีรูปประดิษฐ์เป็นตัวอักษร F สองตัว หันหลังชนกันอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม และมีคำภาษาไทยกำกับว่า ฟรีโดส์ แต่เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำน่าจะมีสาระสำคัญอยู่ที่การอ่านออกเสียงหรือสำเนียงเรียกขานมากกว่าอย่างอื่นเกี่ยวกับการอ่านออกเสียงคำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์มีนายเลสเตอร์ ลอยด์ นาคเล่ย์ลูกจ้างของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สัญชาติอเมริกากับนางสาววรนุช เชียงพุดซา ลูกจ้างโจทก์เบิกความว่า คำว่าFRITOS นี้ คนอเมริกันจะอ่านออกเสียงว่า ฟรีโดส์ หรือ ฟรีโดส์และได้ความจากนางจริยา เปรมปราณีรัชต์ ลูกจ้างโจทก์ว่าบริษัทโจทก์ในต่างประเทศเคยส่งวีดีโอเทปการออกเสียงคำดังกล่าวในการโฆษณาสินค้ามาฉายให้ดู โดยอ่านว่า ฟรีโดส์ หรือ ฟรีโตส์ในชั้นนายทะเบียนวินิจฉัยคำคัดค้านและคำโต้แย้งของโจทก์จำเลยโจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า คำว่า FRITOS ของโจทก์ อาจอ่านออกเสียงว่า ฟรีโตส์ หรือ ฟรีตอส หรือ ไฟรโตส์ หรือ ไฟรทอสตามเอกสารหมาย จ.4 (แผ่นที่ 1) ส่วนจำเลยยื่นคำโต้แย้งว่าคำว่า FREEDOS ของจำเลยว่าออกเสียงว่า ฟรีโดส์ แต่คำว่าFRITOS ของโจทก์สามารถอ่านออกเสียงได้ว่า ฟรีโตส์ หรือฟรีตอส หรือ ไฟร์โตส์ หรือ ไฟทอส ตามเอกสารหมาย จ.4(แผ่นที่ 2) ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามคำคัดค้านและคำโต้แย้งของโจทก์จำเลยประกอบกับคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า FREEDOS ของจำเลยซึ่งอ่านว่าฟรีโดส์ นั้น มีสำเนียงใกล้เคียงหรือเกือบเหมือนกับเสียงอ่านเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า ฟรีโดส์ หรือฟรีโตส์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยตัวอักษรโรมัน 6 ตัว ส่วนของจำเลยมี 7 ตัว แต่ซ้ำกันถึง 4 ตัว คือ F.R.O และ S ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนการอ่านออกเสียงนั้นแม้คำของโจทก์จะสามารถอ่านออกเสียงได้หลายอย่าง ส่วนคำของจำเลยอ่านออกเสียงได้อย่างเดียวแต่ก็มีเสียงเกือบเหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์คือคำว่า ฟรีโดส์ของจำเลยกับ คำว่า ฟรีโตส์ หรือ ฟรีโดส์ของโจทก์ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงถือได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า FREEDOS ของจำเลย มีลักษณะตัวอักษรและการอ่านออกเสียงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า TRITOS ของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share