คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 968/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ป่าไม้จะเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่ประชาชนควรจะร่วมกันบำรุงรักษาป้องกันไว้ และพื้นที่ป่าที่จำเลยกระทำความผิดจะมีเนื้อที่มากถึง 62 ไร่เศษก็ตาม แต่ตามหลักฐานต่าง ๆ ของจำเลยในสำนวนซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งปรากฏว่าพื้นที่ป่าที่จำเลยกระทำความผิดมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม มีผู้อื่นได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่มาก่อน บริเวณใกล้เคียงมีราษฎรเข้าไปจับจองทำกินอยู่เป็นจำนวนมาก หลังเกิดเหตุแล้วทางการก็ดำเนินการปักปัน แนวเขตเตรียมการจะให้เป็นที่ทำกินของราษฎร พฤติการณ์แห่งคดีการกระทำความผิดของจำเลยเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนัก มีเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษให้จำเลย ตามป.อ. มาตรา 56.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 14, 31 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กับสั่งให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากป่าที่ยึดถือครอบครอง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 14, 31 วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำคุก 2 ปี ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก1 ปี ปรับ 15,000 บาท เมื่อพิเคราะห์เกี่ยวกับสภาพพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้องและคำแถลงของโจทก์และจำเลยแล้ว ปรากฏว่าจำเลยเป็นลูกจ้าง และพื้นที่ตามฟ้องดังคำแถลงของจำเลย โจทก์มิได้โต้เถียงเพียงแต่กล่าวแถลงว่าเอกสารราชการอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยังไม่ทราบผล และเมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติของจำเลย กับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยพร้อมบริวารออกจากป่าที่ยึดถือครอบครอง
โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษให้จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ป่าไม้จะเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่ประชาชนควรจะร่วมกันบำรุงรักษาป้องกันไว้และพื้นที่ป่าที่จำเลยกระทำความผิดจะมีเนื้อที่มากถึง 62 ไร่เศษก็ตาม แต่ตามหลักฐานต่าง ๆของจำเลยในสำนวนซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งปรากฏว่าพื้นที่ป่าที่จำเลยกระทำความผิดมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมมีผู้อื่นได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่มาก่อน บริเวณใกล้เคียงมีราษฎรเข้าไปจับจองทำกินอยู่เป็นจำนวนมาก หลังเกิดเหตุแล้วทางการก็ดำเนินการปักปันแนวเขตเตรียมการจะให้เป็นที่ทำกินของราษฎร พฤติการณ์แห่งคดีการกระทำความผิดของจำเลยจึงมิใช่เรื่องร้ายแรงนัก กรณีมีเหตุอันควรปรานีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.

Share