คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9667/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความตามบันทึกระบุได้ความว่า จำเลยนำเหรียญหลวงพ่อคูณมาขายให้โจทก์ร่วมหลายครั้ง เป็นเงิน 1,030,000 บาท ซึ่งปรากฏว่าเป็นเหรียญปลอม ทำเลียนแบบ จำเลยยอมรับที่จะนำเงินมาคืนโจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,030,000 บาท โดยจะผ่อนชำระให้เดือนละ 50,000 บาท ทุกเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 2 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะผ่อนหมด หากจำเลยผิดเงื่อนไขไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง ยินยอมให้โจทก์ร่วมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ทันที เมื่อไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่า โจทก์ร่วมตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง จึงมิใช่การยอมความ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คฉบับละ 50,000 บาท อีก 14 ฉบับ รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ให้โจทก์ร่วม เพื่อชำระเงินตามบันทึก ส่วนที่เหลืออีก 280,000 บาท จะชำระเป็นเงินสด เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในเช็ค 2 ฉบับ ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้ โดยโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนเช็คฉบับอื่น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว โจทก์ร่วมจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คทั้ง 14 ฉบับให้โจทก์ร่วมนั้น เป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงในบันทึกเท่านั้น ทั้งเช็ค 14 ฉบับก็ไม่ได้ชำระหนี้ทั้งหมด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมสละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใดๆ รวมทั้งสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมดังกล่าวเป็นเพียงการชำระหนี้ในทางแพ่งตามข้อตกลงในบันทึกเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันอันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 1,030,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายและริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและจำเลยที่ 1 ให้การว่า ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 มีการยอมความกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องจึงระงับไป
ระหว่างพิจารณา นายอดิศักดิ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) หรือไม่ ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า ข้อความตามบันทึกไม่เป็นการยอมความนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า บันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในทางแพ่ง ซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความ ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ส่วนข้อความตามบันทึกที่ระบุในสาระสำคัญได้ความว่า จำเลยได้นำเหรียญหลวงพ่อคูณมาขายให้โจทก์ร่วมหลายครั้งเป็นเงิน 1,030,000 บาท ซึ่งปรากฏว่าเป็นเหรียญปลอม ทำเลียนแบบ จำเลยยอมรับที่จะนำเงินมาชำระคืนโจทก์ร่วม เป็นเงิน 1,030,000 บาท โดยขอผ่อนชำระให้เดือนละ 50,000 บาท ทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไปและจะชำระให้ภายในกำหนดก่อนวันที่ 2 ของทุกเดือน ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ร่วม จนกว่าจะผ่อนชำระหมด หากจำเลยผิดเงื่อนไขในสัญญาไม่ว่างวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้โจทก์ร่วมดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ทันที เมื่อไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ร่วมตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง จึงมิใช่การยอมความเช่นกัน แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คฉบับละ 50,000 บาท อีก 14 ฉบับ รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ให้โจทก์ร่วม เพื่อชำระเงินตามบันทึก ส่วนที่เหลืออีก 280,000 บาท จะชำระเงินเป็นเงินสด เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในเช็ค 2 ฉบับ ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้ โดยโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนเช็คฉบับอื่น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค 14 ฉบับ ฉบับละ 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมนั้น เป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในบันทึกเท่านั้น ทั้งเช็ค 14 ฉบับ ก็ไม่ได้ชำระหนี้ทั้งหมดตามที่จำเลยทั้งสองตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วมนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน จึงเป็นการนำไปเรียกเก็บเงินเพื่อให้ได้เงินตามที่จำเลยทั้งสองตกลงผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมเท่านั้น แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมสละสิทธิหรือไม่ ยึดถือสิทธิใด ๆ รวมทั้งสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมเป็นเพียงการชำระหนี้ในทางแพ่งตามข้อตกลงในบันทึกเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกัน อันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น เมื่อศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสอง จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามลำดับศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้ออื่นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share