คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9630/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามปกติแล้วผู้ขนส่งมีหน้าที่ส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางจนถึงท่าเรือปลายทางและมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ท่าเรือปลายทาง แต่ทั้งนี้อาจมีข้อตกลงกันเป็นพิเศษให้ผู้รับตราส่งเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเองได้ที่เรียกว่าเป็นเงื่อนไขแบบ Free Out เมื่อพิจารณาใบตราส่งไม่ปรากฏว่าได้ระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้และที่พยานจำเลยที่ 2 อ้างว่า สินค้าพิพาททำการขนถ่ายภายใต้ข้อกำหนด Free Out ตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เอกสารนั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ส่งถึงตัวแทนจำเลยที่ 1 และยังเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งได้รับทราบและแสดงความตกลงด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทเป็นการขนส่งที่มีเงื่อนไขแบบ Free Out
แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือ ดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้ขนส่ง แต่เมื่อโจทก์อ้างว่าสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 972,758.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเวลา 133 วัน เป็นเงิน 26,584.04 บาท รวมเป็นเงิน 999,343 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับประกันภัยทุกประเภท จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและเป็นเจ้าของเรือเอสซี เอคเซลเลนท์ (SC EXCELLENT) มีอาชีพรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนธุรกิจ กรุงเทพมหานคร บริษัทวิทย์คอร์ป โปรดักส์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยได้สั่งซื้อสินค้าโซดาแอชเดนส์ (Soda Ash Dense) จำนวน 5,500 เมตริกตัน ในราคาตันละ 255 ดอลลาร์สหรัฐ บรรจุอยู่ในถุงละ 1 เมตริกตัน จำนวน 5,500 ถุง รวมเป็นเงิน 1,402,500 บาท ดอลลาร์สหรัฐ โซดาแอชไลท์ (Soda Ash Light) จำนวน 1,500 เมตริกตัน ในราคาตันละ 255 ดอลลาร์สหรัฐ บรรจุถุงจัมโบ้ขนาด 750 กิโลกรัม จำนวน 2,000 ถุง รวมเป็นเงิน 382,500 ดอลลาร์สหรัฐ โซดาแอชไลท์ (Soda Ash Light ) จำนวน 300 เมตริกตัน ในราคาตันละ 255 ดอลลาร์สหรัฐ บรรจุอยู่ในถุงละ 50 กิโลกรัม จำนวน 6,000 บาท รวมเป็นเงิน 76,500 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นมูลค่าสินค้าทั้งสิ้น 1,861,500 ดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทชิโน โอเชียน เอ็นเตอร์ ไพร์ส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง โจทก์รับประกันภัยสินค้าพิพาทไว้จากผู้เอาประกันภัย สินค้าโซดาแอชเดนส์และโซดาแอชไลท์ได้ถูกขนส่งจากเมืองเซนเจียง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังท่าเรือกรุงเทพ ประเทศไทย โดยเรือเอสซี เอคเซลเลนท์ ของจำเลยที่ 1 เรือเอสซี เอคเซลเลนท์ เดินทางมาถึงท่าปลายทางที่กรุงเทพมหานครและเริ่มขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือวันที่ 9 เมษายน 2555 ผู้เอาประกันภัยทราบว่ามีสินค้าขาดจำนวนและบางส่วนได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยและรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งสอง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ข้อแรกว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า การขนส่งสินค้าพิพาทอยู่ภายใต้ข้อกำหนดการขนส่งแบบ Free Out โดยผู้รับตราส่งมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือเอสซี เอคเซลเลนท์ นั้น ชอบหรือไม่ ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า การขนส่งสินค้าพิพาทต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในใบตราส่ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ชัดแจ้งระหว่างผู้ส่งและผู้ขนส่ง ตามใบตราส่งไม่ได้ระบุข้อกำหนดการขนส่งแบบ Free Out เอาไว้และการซื้อขายสินค้าพิพาทเป็นการซื้อขายกันในเทอมซีเอ็นเอฟ (CNF) คือ ราคาสินค้ารวมค่าระวางถึงท่าเรือกรุงเทพ ทั้งตามประเพณีปกติผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเมื่อใบตราส่งระบุท่าเรือปลายทางคือ ท่าเรือกรุงเทพ ผู้ขนส่งจึงต้องส่งมอบให้ที่สถานที่ดังกล่าว หาใช่มีการส่งมอบกันกลางแม่น้ำเจ้าพระยาโดยผู้รับตราส่งมีหน้าที่ขนสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือแต่อย่างใดไม่ นั้น เห็นว่า ตามปกติแล้วผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางจนถึงท่าเรือปลายทางและมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ท่าเรือปลายทาง แต่ทั้งนี้ก็อาจมีข้อตกลงกันเป็นพิเศษให้ผู้รับตราส่งเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเองได้ที่เรียกว่าเป็นเงื่อนไขแบบ Free Out เมื่อพิจารณาใบตราส่งพบว่าคงระบุไว้แต่เพียงว่า ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางถึงท่าเรือปลายทางคือ ท่าเรือกรุงเทพ โดยไม่ปรากฏว่าได้ระบุเงื่อนไขว่าเป็นการขนส่งแบบ Free Out เอาไว้ในใบตราส่งแต่อย่างใด และได้ความจากพยานจำเลยที่ 2 ปากนายภูสิทธิ ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ที่ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า สินค้าพิพาทได้ทำการขนถ่ายภายใต้ข้อกำหนดแบบ Free Out อันหมายถึงผู้ขนส่งนำสินค้ามาส่งมอบที่ท่าเรือกรุงเทพแล้วจึงหมดหน้าที่ของผู้ขนส่ง การขนถ่ายสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือเอสซี เอคเซลเลนท์ โดยการนำเรือลำเลียงมาบรรทุกสินค้าข้างลำเรือเอสซี เอคเซลเลนท์ เป็นหน้าที่ของผู้รับตราส่งต้องดำเนินการเองทั้งหมดเพียงเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า เอกสารดังกล่าวนั้นเป็นเพียงไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยที่ 1 ได้ส่งถึงตัวแทนของจำเลยที่ 1 แจ้งว่าสินค้าพิพาทจะทำการขนถ่ายภายใต้เงื่อนไขแบบ Free Out และยังเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งสินค้าพิพาทได้รับทราบและแสดงความตกลงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวด้วยแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้ กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทเป็นการขนส่งที่มีเงื่อนไขแบบ Free Out ที่กำหนดให้ผู้รับตราส่งมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเอสซี เอคเซลเลนท์ หากแต่ยังต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือเอสซี เอคเซลเลนท์ เพื่อทำการส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปคือ สินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้วไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือเอสซี เอคเซลเลนท์ ดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้ขนส่งที่มีหน้าที่ต้องขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือ แต่กระนั้นก็ตามเมื่อโจทก์อ้างว่า สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงรับฟังว่า การขนถ่ายและส่งมอบสินค้าพิพาทเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2555 มิใช่วันที่ 23 เมษายน 2555 ตามที่โจทก์อ้าง ส่วนที่โจทก์อ้างว่า ได้มีการสำรวจความเสียหายของสินค้าพิพาทในเวลาไม่นาน หลังจากที่มีการขนถ่ายและส่งมอบสินค้าเสร็จสิ้นก็ไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง หากแต่ความจริงแล้วการสำรวจความเสียหายนั้นไม่ได้กระทำในระยะเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่มีการขนถ่ายและส่งมอบสินค้าเสร็จสิ้น การที่โจทก์ได้จัดให้มีการสำรวจความเสียหายในวันที่ 25 เมษายน 2555 ภายหลังจากวันที่การขนถ่ายและส่งมอบสินค้าเสร็จสิ้นถึง 12 วัน อันเป็นการปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไปเนิ่นนานจนกระทั่งเรือของจำเลยที่ 1 เดินทางออกไปนอกประเทศแล้วเช่นนี้ ย่อมไม่แน่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าพิพาทตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นเกิดขึ้นก่อนจำเลยที่ 1 จะขนถ่ายและส่งมอบสินค้าพิพาทเสร็จสิ้นในวันที่ 13 เมษายน 2555 หรือเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหลังจากนั้นถึงวันที่ 25 เมษายน 2555 อันพ้นจากความดูแลของจำเลยที่ 1 แล้ว พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share