คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประกอบกิจการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่จะอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น หมายถึงกิจการขนส่งที่บางส่วนได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 วรรคสองและวรรคสาม กิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร และในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นกิจการที่บางส่วนได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรจึงอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สำหรับกิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่งไปยังนอกราชอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งมีลักษณะเป็นการรับขนสินค้านอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมาหักในการคำนวณภาษีได้ ดังนั้น แม้ในเดือนภาษีพิพาทโจทก์ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าภาษีซื้อดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักร ออกไปนอกราชอาณาจักร หรือจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงไม่อาจนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์มีสิทธิได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินจำนวน 125,513.64 บาท ลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความรับกันในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล มีการรับขนส่งสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ขนสินค้าออกนอกราชอาณาจักร และขนสินค้าระหว่างเมืองท่านอกราชอาณาจักร โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรือเดินทะเล 1 ลำ ชื่อว่า “ทอร์ ทริบิวท์” ในการประกอบกิจการดังกล่าวโจทก์ว่าจ้างบริษัทโทรีเซน (กรุงเทพ) จำกัด บริหารจัดการในส่วนการติดต่อประสานงานกับลูกค้า การดูแลซ่อมเรือ การกำหนดตารางเรือ การติดต่อ สั่งการกับเรือเดินทะเล โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2546 พฤษภาคม ตุลาคม และพฤศจิกายน 2547 โดยนำภาษีซื้อในการดำเนินกิจการของโจทก์ในแต่ละเดือนภาษีพิพาทมาใช้สิทธิขอคืนรวม 125,513.64 บาท วันที่ 4 พฤษภาคม 2548 โจทก์รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีพิพาทแจ้งว่า ในการตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีพิพาท โจทก์ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล โดยไม่มีการให้บริการและไม่มีรายได้จากการรับขนสินค้าออกนอกราชอาณาจักรหรือเข้ามาในราชอาณาจักร โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อเนื่องจากเป็นภาษีต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินภาษีซื้อคืน พร้อมกับแจ้งให้โจทก์ต้องชำระเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของภาษีซื้อที่ขอคืนในแต่ละเดือนภาษีพิพาทตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (4) ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า โจทก์มีรายรับจากการรับขนสินค้าระหว่างท่าเรือนอกราชอาณาจักรถือเป็นการให้บริการนอกราชอาณาจักรและมีการใช้บริการดังกล่าวนั้นนอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น รายรับจากการขนส่งสินค้าดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 ภาษีซื้อจากรายจ่ายที่เกิดขึ้นในขณะที่เรือเดินทะเลของโจทก์ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนอกราชอาณาจักรจึงเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ ต้องห้ามมิให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 และมาตรา 82/5 (3) โจทก์ต้องเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินในแต่ละเดือนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (4) การประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว แต่โจทก์ให้ความร่วมมือส่งเอกสารให้ทำการตรวจสอบด้วยดี จึงลดเบี้ยปรับคงเรียกเก็บร้อยละ 70 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย ตามคำอุทธรณ์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ภาษีซื้อในเดือนภาษีพิพาทคดีนี้เป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธินำภาษีซื้อจากรายจ่ายในการดำเนินกิจการของโจทก์แต่ละเดือนภาษีพิพาทไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่เป็นการต้องห้ามเนื่องจากการให้บริการของโจทก์เป็นการให้บริการในราชอาณาจักรนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า การประกอบกิจการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ที่จะอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น หมายถึงกิจการขนส่งที่บางส่วนได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 วรรคสอง และวรรคท้าย สำหรับกิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักรออกไปยังนอกราชอาณาจักร และในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นกิจการที่บางส่วนได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรจึงอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแม้เรือจะอยู่นอกราชอาณาจักรในเดือนภาษีพิพาทก็ตาม แต่สำหรับกิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่งไปยังนอกราชอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งมีลักษณะเป็นการรับขนสินค้านอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น แม้โจทก์จะอ้างว่ามีการทำธุรกรรมการประสานงานหรือการติดต่อลูกค้าในราชอาณาจักรหรือไม่ก็ตาม แต่ลักษณะสำคัญของการให้บริการโดยตรงของโจทก์คือการให้บริการรับขนสินค้า เมื่อการทำงานในส่วนนี้มิใช่เป็นการรับขนสินค้าออกนอกราชอาณาจักรหรือรับขนสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรจึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมาหักในการคำนวณภาษีได้ ดังนั้น แม้ในเดือนภาษีพิพาทโจทก์ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าภาษีซื้อดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร หรือจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร โจทก์จึงไม่อาจนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการนี้ได้เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (3) การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยนำภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (3) มาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป โจทก์จึงต้องเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป การที่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (4) จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลดเบี้ยปรับซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า ทุกเดือนภาษีพิพาทมีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share