แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย จ. 1 จำเลยรับว่าโจทก์ไม่สามารถเข้า ครอบครองที่ดินที่จำเลยขายให้โจทก์ได้จริง จึงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 180,000 บาท (หนึ่งแสน แปดหมื่นบาท) โจทก์พอใจและไม่เรียกร้องใด ๆ หากจำเลยนำเงินมาให้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันนี้ เมื่อโจทก์ได้รับเงินแล้วจะโอนที่ดิน น.ส. 3 ก. ดังกล่าวให้แก่จำเลย หากจำเลยไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ได้ตกลงจะยินยอมเสีย ดอกเบี้ยตามกฎหมาย ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ปฏิบัติต่างตอบแทน ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระเงิน 180,000 บาท ให้แก่โจทก์ก่อน แล้วโจทก์จึงจะโอนสิทธิในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้แก่จำเลย ดังนั้นจำเลยจึงจะเกี่ยงให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้โดยส่งมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยก่อนมิฉะนั้นจะไม่ชำระเงิน 180,000 บาท ให้แก่โจทก์ไม่ได้
คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามมานั้นได้กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2542 นั้นผิดพลาดไปเพราะศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงภายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2541 ดังนั้นย่อมจะต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2541 ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยแม้จำเลยฎีกาเพียงฝ่ายเดียว ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจมาตรา 143 แห่ง ป.วิ.พ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2541 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระเงิน 290,000 บาท โดยจะชำระแก่โจทก์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันทำสัญญาหากผิดนัดยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ครบกำหนดแล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,191 บาท รวมทั้งสิ้น 291,191 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 291,191 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 290,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์จริง แต่เป็นจำนวนเพียง 180,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อจำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์แล้ว โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1003 ตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี คืนแก่จำเลย แต่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2538 โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมีหนังสือ รับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จากจำเลย แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองได้เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นของ นายภิญโญ ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2541 โจทก์และจำเลยตกลงกันได้โดยจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 180,000 บาท โจทก์พอใจและไม่เรียกร้องใด ๆ อีก หากจำเลยนำเงินมาชำระ 180,000 บาท ภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2541 เมื่อโจทก์ได้รับเงินแล้วจะโอนที่ดินตามสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้แก่จำเลย หากจำเลยไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ตกลงจะยินยอมเสียดอกเบี้ยให้ตามกฎหมาย ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย จ. 1 เมื่อครบกำหนด 2 เดือน ตามที่ได้ตกลงกันจำเลยยังไม่ชำระเงิน ให้แก่โจทก์
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงที่ทำไว้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย จ. 1 ระบุว่า
นายสนิทรับว่านายสุรพล ไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินได้จริง จึงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายสุรพลเป็นเงิน 180,000 บาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นบาท) นายสุรพลพอใจและไม่เรียกร้องใด ๆ หากนายสนิทนำเงินมาให้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันนี้ (วันที่ 18 พฤษภาคม 2541) เมื่อนายสุรพลได้รับเงินตามจำนวนแล้วจะโอนที่ดินตามสิทธิ น.ส. 3 ก. ดังกล่าวแล้วให้กับนายสนิท หากนายสนิทไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ตกลงจะยินยอมเสียดอกเบี้ยตามกฎหมาย ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ปฏิบัติต่างตอบแทน ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระเงิน 180,000 บาท ให้แก่โจทก์ก่อน แล้วโจทก์จึงจะโอนสิทธิในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้แก่จำเลย ตามข้อเท็จจริงโจทก์ยังไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เนื่องจากจำเลยไม่สามารถดำเนินการส่งมอบที่ดินพิพาท ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงทำให้ได้เพียงโอนทางทะเบียนคืนให้แก่จำเลยเท่านั้น ดังนั้น จำเลยจึงจะเกี่ยงให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้โดยส่งมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยก่อน มิฉะนั้นจะไม่ชำระเงิน 180,000 บาท ให้แก่โจทก์ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปรากฏแก่ศาลฎีกาว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ตามมาได้กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2542 นั้นผิดพลาดไป เพราะศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงภายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2541 ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามภายในวันดังกล่าวก็ย่อมจะต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2541 ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยแม้จำเลยฎีกาเพียงฝ่ายเดียว ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 143 แห่ง ป.วิ.พ.
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.