แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาให้จำเลยที่ 2 สร้างอาคารคอนโดมิเนียม การตอกเสาเข็มจำเลยที่ 2 ได้ทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้และตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างในระหว่างการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ได้ให้ตัวแทนไปตรวจการก่อสร้างด้วย การตอกเสาเข็มจึงเป็นส่วนการงานที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 กระทำเมื่อเกิดการเสียหายขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย การที่เศษวัสดุก่อสร้างตกลงไปในบ้านโจทก์หรือคนงานทิ้งขยะลงไปในบ้านโจทก์ เป็นผลจากการกระทำของจำเลยที่ 2หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่มิได้ระมัดระวังในการดำเนินการก่อสร้าง มิใช่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ ในคำสั่งหรือในการเลือกหาผู้รับจ้างเพราะจำเลยที่ 2ดำเนินธุรกิจก่อสร้างมีวิศวกรควบคุมงานนับได้ว่าจำเลยที่ 1ได้เลือกหาผู้รับจ้างที่ควรจะทำงานของจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 3เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 จำเลยทั้งสองได้ทำการก่อสร้างอาคารซึ่งอยู่ติดกับที่ดินและบ้านของโจทก์ที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ก่อสร้างอาคาร แต่ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้างพร้อมด้วยวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ร่วมสร้างอาคารดังกล่าวไม่ต้องรับผิดด้วย จำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างดีแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 28,000 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน3,000 บาท คำขอของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1รวมเป็นเงิน 141,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้สร้างอาคารสายลมคอนโดมิเนียมเริ่มก่อสร้างแต่ต้นปี 2526 ตอกเสาเข็มเสร็จเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2526 อาคารที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2527 และความเดือนร้อนของโจทก์สิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2527 การก่อสร้างดังกล่าวทำให้เกิดเสียดังและแรงสั่นสะเทือน โดยการตอกเสาเข็มยาว 21 เมตร ในการตอกเสาเข็มใช้ลูกตุ้มหนัก 3.75 ตัน ตอกบนหัวเสาเข็มเป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ที่ 1 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหาย เสียงดังจากการก่อสร้างและเศษวัสดุก่อสร้างได้ตกลงไปยังบ้านที่โจทก์ทั้งสามอาศัยอยู่เป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญ และในขณะที่ทำการก่อสร้างโจทก์ที่ 1 กำลังตั้งครรภ์และได้คลอดโจทก์ที่ 3 เมื่อเดือนตุลาคม 2526
ในเบื้องต้นจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการก่อสร้างอาคารสายลมคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนผิดในการงานที่สั่งให้ทำ ในคำสั่งหรือในการเลือกหาผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาจ้างเหมาให้จำเลยที่ 2 สร้างอาคารสายลมคอนโดมิเนียมโดยให้จำเลยที่ 2สร้างตามแบบรายการประกอบแบบและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำเลยที่ 2 ได้ทำการก่อสร้างตามแบบทุกอย่าง นับตั้งแต่การตอกเสาเข็มและก่อสร้างตัวอาคาร ในการตอกเสาเข็มจำเลยที่ 2 ได้ทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้และตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1ผู้ว่าจ้าง ในระหว่างการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ได้ให้ตัวแทนไปตรวจการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลน การตอกเสาเข็มจึงเป็นส่วนการงานที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 กระทำ เมื่อเกิดการเสียหายขึ้นจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย ฎีกาส่วนนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นส่วนที่มีเศษวัสดุก่อสร้างตกลงไปในบ้านโจทก์หรือคนงานทิ้งขยะลงไปในบ้านโจทก์ การกระทำส่วนนี้เป็นผลจากการกระทำของจำเลยที่ 2 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยตรง ที่มิได้ระมัดระวังในการดำเนินการก่อสร้าง มิใช่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1ในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ ในคำสั่งหรือในการเลือกหาผู้รับจ้างเพราะจำเลยที่ 2 ดำเนินธุรกิจก่อสร้างมีวิศวกรควบคุมงานนับได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เลือกหาผู้รับจ้างที่ควรจะทำงานของจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 91,600 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,000 บาทแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 15,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 27,500 บาท โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 7,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์