คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 962/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ไม่เป็นเอกสารสำคัญที่จะแสดงว่าผู้มีชื่อในหนังสือนั้นมีกรรมสิทธิ์ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1467 และ 1474 ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นสามีภรรยากันมีชื่อร่วมกันในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 สามีก็มีอำนาจจำหน่ายได้โดยลำพัง ไม่จำต้องให้จำเลยที่ 2 ภริยาเข้าชื่อเป็นผู้ขายด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้แบ่งขายที่ดินให้โจทก์แล้วไม่ยอมแบ่งแยกโอนให้ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ถ้าโอนให้ไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่ามิได้ขายที่ดินให้โจทก์ สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาปลอมหากจำเลยที่ ๑ ขายที่พิพาทให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิส่วนเฉพาะของจำเลยที ๑ เท่านั้น
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินให้โจทก์จริงจำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่พิพาทมีชื่อจำเลยทั้งสองใน น.ส. ๓ และเป็นสินบริคณห์ของจำเลยทั้งสองที่มีเอกสารเป็นสำคัญ การจำหน่ายสินบริคณห์จำเลยทั้งสองต้องลงชื่อด้วยกัน เมื่อจำเลยที่ ๒ มิได้ลงชื่อในหนังสือสัญญาซื้อขาย สัญญาดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ บังคับไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของที่ดินบริคณห์มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ๑ แปลง มีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของใน น.ส. ๓ จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวบางส่วนให้โจทก์ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ ๑ ไม่แบ่งแยกที่ดินโอนขายให้โจทก์ และเห็นว่าตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๑ คำว่า “โฉนดที่ดิน” นั้นหมายถึงหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและให้หมายความรวมโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ทั้งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๙ ก็บัญญัติว่า ที่ดินได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วให้โอนกันได้ ดังนั้น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงไม่เป็นเอกสารสำคัญที่จะแสดงว่าผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๗ และมาตรา ๑๔๗๔ ฉะนั้น ที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาขายให้โจทก์จึงเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญอันเป็นสินบริคณห์ แม้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันจะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ร่วมกัน จำเลยที่ ๑ สามีก็มีอำนาจจำหน่ายได้โดยลำพังโดยไม่จำต้องให้จำเลยที่ ๒ ภริยาเข้าชื่อเป็นผู้ขายด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๓ วรรค ๑
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ ๑ แบ่งแยกและโอนขายที่ดินตามแผนที่พิพาทให้โจทก์ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถแบ่งแยกและโอนขายให้โจทก์ได้ ก็ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share