แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนด 3 ปี คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวถือว่า มิได้เป็นการลงโทษจำเลยโดยจำคุกเกิน 5 ปีย่อมต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7), 357, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 600,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7), 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก2 ปี แต่เห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปรับการฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง มีกำหนดเวลา 3 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 596,000 บาทแก่ผู้เสียหาย ส่วนข้อหารับของโจทก์ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า ‘คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี แต่เห็นสมควรให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนดเวลา 3 ปีนั้น มิได้ลงโทษจำเลยโดยจำคุกเกิน 5 ปี และฎีกาจำเลยทั้งสองพอสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ย่อมต้องห้ามฎีกาตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 5ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาจำเลยทั้งสองให้ไม่ได้’
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลยทั้งสอง.