คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ละเมิด ขับไล่ (ชั้นบังคับคดี)
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 8 หน้า 147 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++

ย่อยาว

เรื่อง ละเมิด ขับไล่ (ชั้นบังคับคดี)
จำเลย ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ลงวันที่ ๙ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๑
ศาลฎีกา รับวันที่ ๒ เดือน มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองแจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดินแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลย และให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านนายฉิวบิดาจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโจทก์ เมื่อนายฉิวตายจำเลยกับพวกก็ได้ครอบครองต่อมาจนได้กรรมสิทธิในที่ดินพิพาทแล้วด้วยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้องต่อมาโจทก์ทั้งสองและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมว่า โจทก์ทั้งสองตกลงยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๕๔๕เลขที่ดิน ๖๘ ตำบลทุ่งขวาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ทางด้านทิศเหนือโดยวัดจากกึ่งกลางถนน เป็นเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๓ งาน ๗๘ ตารางวาให้จำเลย โจทก์ทั้งสองจะรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้จำเลยและจะโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยหรือบุคคลอื่นตามความประสงค์ของจำเลยภายใน ๑ เดือน นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน ในการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินโจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงที่จะออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการรังวัดคนละครึ่ง ส่วนค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลย ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ชำระ โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงที่จะกันที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยวัดจากกึ่งกลางถนนออกไปด้านละ ๔ เมตรจำเลยตกลงที่จะให้ความร่วมมือและไม่คัดค้านในการรังวัดที่ดิน หากจำเลยและโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงว่า เมื่อถึงกำหนดโจทก์ทั้งสองไม่โอนที่ดินให้จำเลยขอให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามโจทก์ทั้งสองเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมต่อไป
ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและมีคำสั่งว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความตกลงกันโดยโจทก์ทั้งสองจะยกที่ดินโฉนดเลขที่๘๕๔๕ ดังกล่าว ด้านทิศเหนือโดยวัดจากกึ่งกลางถนนเป็นเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๓ งาน ๗๘ ตารางวา ให้จำเลย โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยต้องกันที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์วัดจากกึ่งกลางถนนออกไปด้านละ ๔ เมตร ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงหมายความว่า โจทก์ทั้งสองจะยกที่ดินด้านทิศเหนือให้จำเลยเป็นเนื้อที่ไม่น้อยกว่า๔ ไร่ ๓ งาน ๗๘ ตารางวา เมื่อการรังวัดที่ดินในส่วนที่โจทก์ทั้งสองจะยกให้ดังกล่าวปรากฏว่าได้ถึง ๖ ไร่เศษ คดีจึงต้องมีการรังวัดใหม่เพื่อให้ได้ที่ดินที่โจทก์ทั้งสองจะยกให้มีเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๓ งาน๗๘ ตารางวา ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้คู่ความไปดำเนินการตามสัญญาประนีประยอมความต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า ตามที่สัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า โจทก์ทั้งสองตกลงยกที่ดินพิพาททางด้านทิศเหนือโดยวัดจากกึ่งกลางถนน เป็นเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๓ งาน ๗๘ ตารางวา ให้แก่จำเลย รายละเอียดปรากฏตามรูปแผนที่แนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมมีความหมายว่า จำนวนเนื้อที่ดินที่ระบุไว้เป็นเพียงการประมาณการที่ดินที่จำเลยได้ครอบครองไว้ ส่วนที่ดินจะมีจำนวนเท่าใดเป็นที่แน่นอนจะต้องทำการรังวัดว่าที่ดินที่จำเลยครอบครองมีเพียงใด เมื่อการรังวัดได้ความว่าที่ดินที่จำเลยครอบครองมีเนื้อที่ ๖ ไร่เศษ โจทก์จึงต้องโอนที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความได้ระบุข้อตกลงไว้โดยชัดเจนว่าโจทก์จะยกที่ดินพิพาทด้านทิศเหนือโดยการวัดจากกึ่งกลางถนน เป็นเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๓ วา๗๘ ตารางวา แสดงว่าคู่ความทำสัญญาโดยมุ่งที่จะรังวัดที่ดินเพื่อยกให้แก่จำเลยในจำนวนดังกล่าว เพราะหากโจทก์ต้องการจะยกที่ดินที่จำเลยครอบครองทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงเนื้อที่ คู่ความก็ไม่จำต้องระบุเนื้อที่โดยละเอียดลงไว้ในสัญญา ส่วนการที่คู่สัญญาใช้ถ้อยคำว่า”ประมาณ” ก็เพียงเพื่อในกรณีที่ลักษณะของที่ดินไม่อาจรังวัดแบ่งแยกออกได้เนื้อที่แน่นอนในจำนวนดังกล่าวก็ให้รังวัดให้ได้เนื้อที่ที่ใกล้เคียงกับจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาให้มากที่สุด ดังนั้น เมื่อการรังวัดยังไม่ได้ตำแหน่งและเนื้อที่ดินตามสัญญา แม้โจทก์ทั้งสองยังมิได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยตามยอมก็ไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองผิดสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น ชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ในการระบุให้มีการรังวัดที่ดินตามสัญญาก็เพียงเพื่อประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินออกเป็น ๔ แปลง นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share