คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9606/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาและวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างในคดีได้โดยไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด เป็นการ ออกข้อกำหนดโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามที่ พ.ร.บ. ให้อำนาจไว้ มิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย
ประกาศกระทรวงการคลังเป็นการออกข้อกำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 มาตรา 4 ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการออกข้อกำหนดโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 แต่ทั้งประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย
ประกาศที่ออกโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ไม่ใช่ประกาศของทางราชการและไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้แล้วอีกด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน ๒๗๐,๓๑๙.๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๒๐.๒๕ บาท ของต้นเงิน ๒๐๖,๐๐๒.๕๕ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ไม่เคยลงลายมือชื่อค้ำประกันเงินกู้ตามฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๔ จึงเป็นโมฆะ ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์มิได้หักเงินที่จำเลยที่ ๑ ชำระดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยตามฟ้องของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง การที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี นอกจากจะขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๔ แล้วยังขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๕ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่ควรที่จะมีสิทธิเหนือประชาชนคนไทย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นกล่าวอ้างว่า พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินเกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี กับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. ๒๕๓๕ ฉบับลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ และฉบับลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ รวมทั้งประกาศของโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลด ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ฉบับลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๐ ฉบับลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๑ และฉบับลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ เนื่องจากพระราชบัญญัติและประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ดังกล่าวมาข้างต้น ให้สถาบันการเงินเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดเกินกว่าอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีได้ แต่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๔ และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย และไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินเกินกว่าอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี รวมทั้งประกาศต่าง ๆ ดังกล่าว จึงน่าจะใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖ ขอให้ศาลชั้นต้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวไปตามทางการเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ ๒๗๐,๓๑๙.๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๒๐.๒๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๐๖,๐๐๒.๕๕ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้นำเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ที่จำเลยที่ ๑ ชำระแล้วหักออกจากยอดหนี้แล้วลดดอกเบี้ยลงตามส่วน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสี่ที่ขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยทั้งสี่ในเรื่องที่ว่า พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินเกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี กับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. ๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ และฉบับลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ รวมทั้งประกาศของโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลด ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ฉบับลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๐ ฉบับลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๑ และฉบับลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ หรือไม่ เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” และมาตรา ๒๗๑ บัญญัติว่า “ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น” ดังนี้ ในการพิจารณาและวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หรือไม่ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน หากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยมาแล้ว มาตรา ๒๖๔ วรรคสุดท้าย บัญญัติต่อไปว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว” ดังนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างในคดีได้โดยไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก
ในปัญหาที่จำเลยทั้งสี่มีความเห็นว่า พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยอัตราเกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๒ ไว้แล้วว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ และฉบับลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๒ ว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ เป็นการออกข้อกำหนดโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามที่พระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ มิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย และเมื่อพิจารณาประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. ๒๕๓๕ ฉบับลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ กับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ และฉบับลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ปรากฏว่าทั้งประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวต่างออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ กล่าวคือ ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นการออกข้อกำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๒๓ มาตรา ๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕ ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นการออกข้อกำหนดโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่ทั้งประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวมิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย สำหรับประกาศของโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลด ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ฉบับลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๐ ฉบับลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๑ และฉบับลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ ก็ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๒ ว่า ประกาศธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ ๓/๒๕๓๙ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๙ เป็นประกาศที่ออกโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ ที่ออกโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ ประกาศของธนาคารไทยพาณิชย์ฉบับดังกล่าวจึงไม่ใช่ประกาศของทางราชการและไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ได้ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๓๘ ถึง ๔๐/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ วินิจฉัยว่า ประกาศของโจทก์ดังกล่าวในคดีนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับประกาศของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ ๓/๒๕๓๙ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๙ ประกาศของโจทก์จึงไม่ใช่ประกาศของทางราชการและไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ได้ จึงเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วอีกด้วย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสี่ที่ขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยทั้งสี่ไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share